“พี่คะ ปลายสัปดาห์หน้าหนูขอลางานสามวันนะคะ” น้องในทีมงานมาขออนุญาตเราไปทำอะไรสักอย่างที่กรุงเทพฯ
“ได้สิ น้องจะไปไหนล่ะ ไปเยี่ยมบ้านใช่มั้ย” เราเดาเอาว่า หลายเดือนแล้วที่น้องไม่ได้กลับไปหาครอบครัว น้องคงคิดถึงคนที่บ้านมากแน่ ๆ
น้องรีบตอบ “ใช่ค่ะพี่ ไปเยี่ยมที่บ้านแล้วก็ตั้งใจว่าปีนี้หนูจะไปงานนวราตรีที่วัดด้วย”
“โอ้ เหรอ มีงานนวราตรีใช่มะ เอาสิ ปีนี้คงคึกครื้นมากเลยนะ พอสถานการณ์โควิดดีขึ้น หลายคนคงอยากไปรวมตัวกันทำพิธี” ในขณะที่เรากำลังจินตนาการภาพของผู้คน ทุกเพศ ทุกวัยจากทั่วสารทิศที่หลั่งไหลเพื่อไปสักการะองค์เทพต่าง ๆ ตามความเชื่อแบบฮินดูและพราหมณ์
“ปีนี้หนูกะจะรีบไปจองที่กับพี่สาวก่อน เดี๋ยวหนูจะขอพรให้กับพี่แล้วก็ทุกคนในทีมเราด้วยนะคะ” น้องพูดอย่างใจดีและกระตือรือร้น
ย้อนไปก่อนหน้านี้ที่เริ่มทำงานด้วยกันตอนแรก ๆ เรารู้ว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา น้องในทีมคนนี้ของเราบูชาเทพธิดาองค์หนึ่งตามความเชื่อของศาสนาฮินดู เธออธิบายให้เราฟังว่าตัวแทนของเทพที่เป็นผู้หญิงองค์นี้ช่วยพาเธอผ่านพ้นเรื่องร้าย ๆ บางอย่างที่เธอไม่สามารถบอกกับคนอื่น ๆ อย่างเปิดเผยได้ หลังจากที่จบบทสนทนานั้นผ่านไปไม่นาน เราก็กลับมาคิดอะไรหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของผู้หญิงเท่าที่เรารับรู้ในประสบการณ์ของเรามา เราสังเกตเห็นว่า ความเชื่อของผู้หญิงในยุคปัจจุบันถูกความเชื่อทางวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่และด้อยค่าความเชื่อดั้งเดิมว่าเป็นสิ่งงมงายและไร้สาระ ทั้ง ๆ ที่หลายอย่างเป็นรากฐานดั้งเดิมของผู้คนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นดินแดนที่ความเชื่อและศาสนาที่มีตัวแทนจากผู้หญิง เทพธิดา หรือเจ้าแม่ต่าง ๆ เคยปรากฏอยู่อย่างยาวนานมาก่อน
อย่างครอบครัวของเราเองก็มีความเชื่อทางจิตวิญญาณที่เข้มข้นเกี่ยวข้องกับเทพธิดาที่ปกป้องผืนดิน ผืนป่า บรรพบุรุษที่เป็นครูบาอาจารย์ทางศิลปะ ผู้เยียวยารักษาโรคและหมอทำคลอดพื้นบ้านที่เป็นตัวแทนของเพศหญิงซึ่งผู้คนในชุมชนและครอบครัวของเราให้ความเคารพ บูชามาตั้งแต่เราจำความได้
เราจำได้อย่างแม่นยำด้วยว่าครั้งหนึ่งที่เราเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเฟมินิสต์จากหลายประเทศหลากวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในกิจกรรรมที่เราประทับใจมากก็คือ การเปิดพื้นที่ให้เราพูดคุยและทบทวนถึงบรรพชนหญิงในอดีตและเหล่าเทพธิดาต่าง ๆ ทั้งที่ในปรากฏขึ้นในพื้นที่ทางศาสนา พื้นที่ความเชื่อและบางส่วนเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ของชุมชนที่เป็นผู้ต่อสู้ ฝ่าฟันจนสามารถเรียกร้องความยุติธรรมและนำความผาสุกบางอย่างให้เกิดขึ้นจนกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงในรุ่นต่อ ๆ มา
และเมื่อได้ทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับตัวแทนของผู้หญิงในพื้นที่อำนาจเชิงวัฒนธรรมก็คือ บรรดาเทพธิดา ครู เจ้าแม่ หรือว่าบุคคลที่เป็นเคารพของพวกเรานั้น เมื่อเปรียบเทียบกันกับตัวแทนของเทพเจ้า เซียน ครูบาอาจารย์ และบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่ถูกยกย่องซึ่งเป็นผู้ชาย เรากลับพบข้อมูลที่ชัดเจนมาก เนื่องจากเรื่องราวของผู้หญิงไม่ค่อยถูกนำมายกย่องหรือกล่าวถึงในการบันทึกของสื่อหรือปรากฏอยู่ในระบบการศึกษาหลักมากอย่างฮีโร่ผู้ชาย แถมยังมีเรื่องเล่า ตำนาน นิทานปรัมปราที่เกี่ยวข้องกับฮีโร่ซึ่งเป็นผู้หญิงในวัฒนธรรมของเราน้อยมาก ๆ และส่วนที่มีปรากฏอยู่จริงก็แทบจะไม่ได้ถูกบันทึกหรือไม่ได้ส่งต่อให้คนรุ่นต่อ ๆ มาได้รู้จักกันอย่างแพร่หลายอย่างบุคคลในตำนานหรือวีรบุรุษที่เป็นเพศชาย แม้แต่รูปปั้น ประติมากรรม ภาพวาด อนุสาวรีย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็แทบจะไม่มีพื้นที่ให้กับผู้หญิงเท่าใดนัก แถมยังถูกเบียดขับให้ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนานเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องงมงายของผู้หญิงยุคใหม่เสียอีก ทั้ง ๆ ที่บรรพชนผู้หญิง เทพที่เป็นผู้หญิง ครูหมอที่เป็นหญิงก็มีส่วนสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจและเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนมากมายรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงทางจิตวิญญาณ
เราเองเวลาที่ท้อแท้หรือต้องการกำลังใจ นอกจากแม่ของเราแล้ว เราก็มีตัวแทนของผู้หญิงบางคนที่เราเชื่อมั่นและศรัทธาเข้ามาเป็นพลังใจที่สำคัญในช่วงที่เราก้าวข้ามความลำบากหลาย ๆ อย่างไปได้ด้วยเหมือนกัน
ทุกวันนี้สิ่งที่เราเองทำอยู่ ถ้ามองย้อนกลับไปแล้ว เราก็เคยได้รับพลังใจและแรงบันดาลใจจากเทพธิดา ครูหมอ และตัวแทนบางอย่างที่เคยเป็นอดีตของผู้หญิงกล้าเหล่านั้น แต่ทุกวันนี้อีกเช่นกันที่ประวัติศาสตร์และชุดความรู้ถูกบันทึกและสร้างขึ้นมาจากคนกลุ่มเดียวที่มีอำนาจ ถ้าย้อนกลับไปมองดูอีกที เรื่องราวมากมายในอดีตที่เกิดขึ้นล้วนประกอบรวมจากคนหลายกลุ่ม หลายอัตลักษณ์ ผู้หญิงนักคิด นักทำ ผู้นำทางจิตวิญญาณจากหลายวัฒนธรรม รวมถึงเพศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่ผู้หญิงและผู้ชาย ทำไมถึงจะพรากความภาคภูมิใจและเรื่องเล่าเหล่านี้ไปจากผู้คน ใจของเราไม่ได้โกหก เราคงปฏิเสธรากเหง้าที่เป็นสิ่งที่เรายึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณตัวเองไม่ได้ และไม่บังอาจไปตัดสินด้วยตัวเองว่าสิ่งเหล่านี้ที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้จะเป็นเรื่องงมงายของใครหรือกลุ่มคนกลุ่มไหนเลย
บทความ : รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์
ตอนอายุ 12 ปี รวงค้นพบว่า บทสนทนาบางเรื่องอย่าง ความตาย การหลงรักคนเพศเดียวกัน และเรื่องอีกจำนวนหนึ่งเป็นเรื่องที่สังคมห้ามให้เด็กตั้งคำถาม รวงจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะยืนยันกับสังคมกลับไปว่า ความลับและเรื่องต้องห้ามเหล่านั้นจำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้และการเติบโตของจิตวิญญานในมนุษย์ทุก ๆ คน


บรรณาธิการ : เต๋า ศรัทธารา หัตถีรัตน์
นักกิจกรรม เลสเบียน เฟมินิสต์ คนเคยทำแท้ง


บรรณาธิการภาพ : วิจิตรา
ตรา เป็นนักออกแบบการเรียนรู้ ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น เธอเชื่อว่าคนทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมจำเป็นต้องมีชีวิตที่ดี แต่ชีวิตที่ดีเป็นแบบไหน เธอกำลังหาคำตอบอยู่