การดูแลกันแบบกลุ่ม หมายถึง เราไม่ผลักภาระการดูแลสุขภาพกายใจไปให้กับคนหนึ่งคน เราเห็นว่าสุขภาพและความสุขของเพื่อนร่วมทางของเราคือสิ่งที่กลุ่มสามารถรับรู้ ยืนยัน และร่วมดูแล
เริ่มจากทำความเข้าใจว่า ความสุขและสุขภาพของเพื่อนร่วมทางของเรามีความสำคัญเท่าเทียมกับเป้าหมายของการขับเคลื่อน
การยืนยันขอบเขตด้านสุขภาพทั้งกายและใจของเราก็มีส่วนช่วยให้เพื่อนในกลุ่มสบายใจที่จะยืนยันขอบเขตของพวกเขาเช่นกัน
เริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน คิดไว้ว่า การยืนยันความสุขและสุขภาพของเราและเพื่อนคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
ด้านล่างนี้เป็นบางส่วนของวิธีการดูแลกันแบบกลุ่มที่เริ่มต้นทำได้เลย พวกเราบางคนหรือบางกลุ่มได้เริ่มทำกัน และพบว่าได้ผลดี สามารถสร้างความสบายใจ ลดความเครียดในการทำงาน และส่งเสริมสุขภาพของแต่ละคนได้
1. ถามไถ่กันก่อนเริ่มคุยงาน
ก่อนเริ่มประชุมงานกัน ลองถามว่าวันนี้แต่ละคนเป็นยังไงกันบ้าง รวมถึงแบ่งปันสภาพของเรากับเพื่อน ๆ ตามจริง นี่เป็นโอกาสที่จะรับรู้ว่า สมาชิกในกลุ่มพร้อมกันแค่ไหนกับการพูดคุยวันนี้ นอกจากนี้ การได้สื่อสารว่าเราไม่พร้อม ก็ช่วยสร้างความเข้าใจในกลุ่ม ลดความกดดันของคนที่ไม่สบายแต่ต้องทำตัวเหมือนสบายดี และเปิดโอกาสให้กลุ่มสนับสนุนการทำงานตามสภาพพร้อมของแต่ละคนด้วย
การถามไถ่ก่อนเริ่มคุยเรื่องงานไม่ใช่พิธีการ และจะไม่มีความหมายเท่าไหร่นักหากเราไม่ได้ใส่ใจกับคำตอบของแต่ละคนและนำมันมาปรับเข้ากับแผนการประชุมในวันนั้นของเรา การปรับเปลี่ยนไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยาก เช่น เข้าใจมากขึ้นถ้าเขาจะพูดน้อยลงหรือหลุดๆ ไปบ้างในวันนี้ หรือเปิดโอกาสให้ทุกคนหาของมากิน เพราะส่วนมากยังไม่ได้กินข้าว หรือบางคนเป็นโรคกระเพาะ หรือถ้าหลายคนบอกว่าเหนื่อย ก็ปรับการประชุมให้กระชับและเลิกเร็วขึ้น เป็นต้น
(บางคนอาจเรียกการถามไถ่กันก่อนเริ่มต้นทำบางอย่างร่วมกันแบบนี้ว่า เช็คอิน)
2. พักที่เป็นพัก
พักกินข้าวที่เป็นพักกินข้าวจริงๆ อนุญาตให้ตัวเองและเพื่อนมีเวลาชื่นชมอาหาร นั่งทอดหุ่ย คุยเรื่องไร้สาระ เรื่องตอนประชุมกันที่มันเครียด ๆ ก็พักไว้ก่อน อดใจไว้รอตอนต่อไป
ถ้าการชวนคิดเรื่องงานระหว่างกินข้าวคือวัฒนธรรมปกติของกลุ่ม เราอาจจะชวนเพื่อน ๆ ก่อนว่าเรามากินข้าวแบบไม่คุยงานกันบ้างเถอะ ถ้าทุกคนเห็นด้วย เราก็จะได้เตือนกันได้แบบไม่ผิดใจกันถ้าเผลอชวนเข้าเรื่องงานเครียดๆ ระหว่างกิน
บางทีเราคิดว่า การคุยไปกินไป เราได้งาน ซึ่งบางทีทุกคนก็สนุกที่จะทำอย่างนั้น แต่บางทีเรื่องที่ชวนคุยก็ไม่สนุก หรือไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมคุยงานไม่หยุด หรือไม่ได้พร้อมขนาดนั้นในวันนี้ เราก็เคารพเวลาพักของกันและกันก่อนนะ
3. ตกลงช่วงเวลาการทำงานให้ชัดเจน
ตกลงกันว่าในแต่ละวัน จะเริ่มและเลิกทำงานเวลาไหน เข้าใจกันถ้าเราส่งข้อความไปในเวลาพักแล้วเพื่อนไม่ตอบ หรือหลีกเลี่ยงการส่งข้อความเรื่องงานไปในเวลาที่เรารู้ว่าเพื่อนพัก พยายามช่วยกันรักษาเวลาตามความตั้งใจของเราและเพื่อน เพื่อส่งเสริมความสำคัญของการพัก และให้เพื่อนได้มีเวลาพักอย่างเต็มที่
เราเข้าใจว่าบางทีมันก็มีเรื่องเร่งด่วน หรืออดไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่รู้ตัว ก็ชักชวนกันกลับมาสู่การระบุเวลาพัก ทำไปเรื่อยๆ เราอาจจะพบว่า “เรื่องเร่งด่วน” บางทีมันก็ปรับตัวตามเราเองแฮะ
4. เตือนเวลาเห็นเพื่อนรับงานเกินกำลัง
เตือนกันเวลาที่กลุ่มหรือใครบางคนในกลุ่มอาจจะกำลังรับงานมากเกินไป
ก็แหม... บางอย่างมันก็จำเป็นต้องทำจริงๆ ถ้าไม่ทำเราจะเสียโอกาสนะ ... ฮั่นแน่ คิดแบบนี้อยู่ใช่ไหม ใจเย็น ๆ ก่อนนะ ช่วยกันดูว่า มันมีโอกาสทำในเวลาอื่นที่เราไม่เพียบหนักขนาดนี้บ้างไหม อย่าลืมว่าเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นยาวไกล และถ้าเรากับเพื่อนทำจนหมดแรงร่างสลายไปเสียก่อน ใครจะมาทำต่อจ๊ะ
5. เชียร์ให้เพื่อนพัก
เชียร์เพื่อน เวลาที่เพื่อนอยากหาวันหยุด ทำกิจกรรมคลายสมอง ไปเที่ยว ใช้เวลากับครอบครัวหรือคนรัก
อย่าลืมว่าพวกเราส่วนใหญ่เติบโตมาในวัฒนธรรมทุนนิยม ก็จะเป็นห่วงว่าตัวเองจะมีประสิทธิภาพน้อยไป ใช้เวลาไม่คุ้มค่า ทำงานไม่ดี ฯลฯ ถ้าเพื่อนเหนื่อย อยากหยุดพัก อย่าให้เพื่อนกังวลว่าเค้ากำลังเอาเปรียบเราที่ไม่ได้หยุด หรือรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำงาน เพราะเขาอาจมีแนวโน้มที่จะรู้สึกแบบนี้อยู่ และสุดท้ายก็ฝืนทำงานต่อโดยไม่หยุดพักหรือแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และผ่อนคลาย

6. เข้าใจสถานการณ์ชีวิตเพื่อน
รับรู้สถานการณ์ใหญ่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิตของเพื่อน (เงิน บ้าน พ่อแม่ คนรัก สุขภาพ ฯลฯ) และเข้าใจว่าช่วงเวลานี้เพื่อนอาจต้องใช้เวลาหรือพลังไปกับการดูแลจัดการเรื่องเหล่านี้ด้วย
การรับรู้ชีวิตเพื่อนร่วมงานสามารถลดความรู้สึกกดดันว่าจะต้องพยายามทำงานให้ได้เหมือนเดิม ประหนึ่งว่าชีวิตหลังงานไม่มีปัญหา ซึ่งสุดท้ายแล้วราคาที่ต้องจ่ายคือสุขภาพ
ความเป็นมืออาชีพหรือการแยกงานออกจากเรื่องส่วนตัวเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในสังคมชายเป็นใหญ่และทุนนิยม ซึ่งไม่ได้ทำได้ตลอดเวลาในความเป็นจริง และยังเป็นการมองข้ามปัญหาที่ส่งผลกระทบจริงต่อคนทำงาน แต่ยังคงถูกกล่าวอ้างเป็นมาตรฐานสากล และอาจจะทำให้คนรู้สึกแย่กับตัวเองหรือโกรธเพื่อนร่วมงานมากเกินจำเป็นเวลาที่ทำไม่ได้ตามมาตรฐานที่ว่า ซึ่งคนที่มีโอกาสได้รับผลกระทบอย่างมากคือผู้หญิง เพราะในขณะที่ทำงานก็ยังต้องแบกความคาดหวังในการเป็นผู้ดูแลเรื่องต่างๆ มากมายที่บ้านด้วย ถ้าเรารู้สึกว่ากลุ่มของเราเริ่มมีความตึงเครียดด้วยเหตุแห่งความเป็นมืออาชีพค้ำคอ เราอาจอยากทบทวนกันในกลุ่มด้วยว่า มาตรฐานความเป็นมืออาชีพที่เรายึดถือนั้น แท้จริงแล้วอิงจากชีวิตของใคร เพศใด อายุเท่าไหร่ ชนชั้นทางสังคมใด
และแน่นอนว่า การดูแลกันแบบกลุ่มรวมถึงการดูแลตัวเราเองด้วย การดูแลเพื่อนร่วมงานที่กำลังเจอปัญหาในชีวิตด้วยการทำงานแทนเพื่อน ทั้งที่ตัวเองก็กำลังไม่ไหว ไม่ใช่คำตอบที่ดีของทั้งสองฝ่าย (เราเครียดเกินไป ในขณะที่เพื่อนก็รู้สึกแย่ เพราะรู้ว่าทำให้เราลำบาก และเหมือนทำงานที่ตนเองรับผิดชอบไม่สำเร็จ)
ปรึกษาหารือกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ผลักเรื่องส่วนตัวสำคัญๆ ออกไป แต่ก็ไม่เกรงใจกันจนรู้สึกแบกรับและกดดัน


บทความ : เต๋า ศรัทธารา หัตถีรัตน์
นักกิจกรรม เลสเบียน เฟมินิสต์ คนเคยทำแท้ง