Home » #ดูแลกันแบบกลุ่ม ตอนที่ 1ความสำคัญของการดูแลกันแบบกลุ่มในองค์กรทางสังคม

#ดูแลกันแบบกลุ่ม ตอนที่ 1
ความสำคัญของการดูแลกันแบบกลุ่มในองค์กรทางสังคม

by หลังบ้าน

นักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิ คนทำงานขับเคลื่อนสังคม และคนที่ต้องดูแลคนอื่นอยู่เสมอ มีแนวโน้มที่จะสะสมความเครียดในปริมาณมากและต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้น สำหรับพวกเรา การดูแลสุขภาพในด้านต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เราสามารถมีแรงทำเรื่องยากๆ ที่ทำอยู่ต่อไปได้

แต่มันก็ไม่ง่ายเหมือนกัน ที่จะให้เราลุกขึ้นมาบอกเพื่อนๆ ว่า “เราขอหยุดพักหน่อยได้ไหมช่วงนี้” “เราเครียดเรื่องที่บ้านมากเลย เราขอลดภาระงานลงนะ" หรือแม้แต่ “ขอเราไปทำมาหากินหน่อยนะ ไม่มีตังส์แล้ว”

โดยเฉพาะนักกิจกรรมผู้หญิงหรือคนที่รับบทบาทผู้หญิงในทางสังคม ที่แบกรับทั้งความคาดหวังในการดูแลใครๆ รอบตัวจากทั้งคนที่บ้าน คนในชุมชน คนในองค์กร และแม้แต่ตัวเอง จนรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องอดทนและทำเพื่อใครๆ เหล่านั้น แม้จะต้องฝืนร่างกายและอารมณ์ของตัวเองอยู่เรื่อยๆ

เหมือนที่เราไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยมือของเราคนเดียว เราต้องการเพื่อนร่วมไปกับเราในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ความสุขและสุขภาพของพวกเราก็เช่นกัน

ลองจินตนาการดู มันยากนะคะที่จะเป็นคนคนเดียวหรือไม่กี่คนในกลุ่ม ในชุมชนหรือในขบวนการ ที่จะบอกว่าเราขอพัก หรือขอในสิ่งอื่นๆ เพื่อดูแลสุขภาพ ความสุขและกำลังใจของเรา ในเมื่อเพื่อนคนอื่นๆ เขาไม่เห็นพูดอะไรถึงสิ่งนี้ (ถึงแม้ว่าจะแอบเหนื่อยเหมือนกันนั่นแหละ) สุดท้าย เราก็จะพักไม่ได้ หรือพักไม่ได้เต็มที่ เพราะกังวลว่าเพื่อนคนอื่นกำลังทำงาน หรือคาดหวังให้เราทำงาน

เพราะเหตุนี้ การดูแลกันแบบกลุ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราควรจะมองเรื่องสุขภาพและความสุขเป็นเรื่องในระดับกลุ่มและชุมชน ไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งที่จะต้องจัดการตัวเองเพียงเท่านั้น และปล่อยภาระในการดูแลสุขภาพกายใจเป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งที่ในความเป็นจริง สภาพแวดล้อมและความร่วมมือของกลุ่มเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักกิจกรรมแต่ละคนดูแลตัวเองได้ดีขึ้นและง่ายขึ้น

การมองว่าการดูแลสุขภาพและความสุขเป็นเรื่องส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว นอกจากจะทำให้การดูแลตัวเองของแต่ละคนยากลำบาก ยังเป็นเหมือนการวางกับดักให้แต่ละคนคาดหวังว่า การดูแลตัวเองด้วยตัวคนเดียวเป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ว่าสภาพการทำงานและวัฒนธรรมกลุ่มจะเป็นอย่างไร และกลายเป็นรู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่าเดิมเมื่อทำไม่สำเร็จ

เริ่มง่ายๆ จากการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันให้บ่อยขึ้น ตั้งใจฟังคำตอบ และเมื่อเพื่อนบอกว่าตัวเองไม่โอเคอยู่ในช่วงนี้ ถามเพื่อนว่าแล้วตัวเราสามารถสนับสนุนหรือช่วยเหลือเพื่อนอย่างไรได้บ้าง และถามตัวเองในฐานะเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมอุดมการณ์ หรือสมาชิกคนหนึ่งของชุมชนนี้ ว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสนับสนุนให้เขาได้ลดความกดดันในส่วนที่เขาเผชิญอยู่

สิ่งที่เราทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรมากมายจนสร้างความกดดันให้ตัวเราไปอีก มันสามารถเป็นอะไรง่าย ๆ อย่างเช่น:

ในวันที่เพื่อนพัก หากไม่ใช่เรื่องด่วน พยายามหลีกเลี่ยงการทักหาเพื่อนในเรื่องงาน เราอาจจะจดวันพักของเพื่อนไว้ในปฏิทินงานของเราด้วย

ในวันที่เพื่อนบอกว่าจะไปหยุดพัก แต่กลับยังทักหาเราในเรื่องงาน เราอาจจะช่วยยืนยันช่วงเวลาพักของเพื่อน เพื่อให้เพื่อนสบายใจมากขึ้นที่จะพัก

ในช่วงที่งานหนัก เราอาจจะช่วยกันถามไถ่ว่า ในสัปดาห์นี้มีวันหยุดบ้างหรือยัง อยากมีเวลาส่วนตัวในช่วงไหนบ้างหรือเปล่า สนับสนุนให้เพื่อนหาเวลาพัก หรือถ้าเราทำงานในองค์กรที่มีโครงสร้างวันหยุดงานชัดเจน และเราเห็นเพื่อนทำงานหนักหรือเครียด อาจสนับสนุนให้เพื่อนหาวันพักร้อน หรือช่วยกันหาข้อตกลงเกี่ยวกับงานหรือวิธีการจัดการกับหน้างานให้เพื่อนลาได้โดยไม่ลำบากใจว่าตนเองทิ้งงานไปเฉยๆ

เมื่อการคุยงานล่วงเลย เกินเวลาเลิกงานหรือเวลาที่ตกลงกันไว้ ช่วยกันทักถามและนัดเวลาในการคุยใหม่ แม้ว่าตัวเราอาจจะรู้สึกว่ายังไหวอยู่ แต่เรายืนยันว่าจะร่วมกันสร้างวิถีใหม่ ที่จะช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ตัวเราและกลุ่มได้พักในเวลาที่ควรพัก

เปลี่ยนมาตรฐาน แกต้องมานะ ห้ามป่วย ห้ามตาย เป็น “เอาเท่าที่ไหว สุขภาพของแกสำคัญนะเพื่อน”

ทีละเล็กทีละน้อย เราถามไถ่และยืนยันการพักผ่อนของเพื่อนของเรา เพื่อเริ่มต้นสร้างการดูแลแบบกลุ่ม

ดังนั้น ทีละเล็กทีละน้อย เรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ไม่เป็นธรรม ผ่านการเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มเราเอง ผ่านการตั้งคำถามและปลดแอกตัวเองจากอิทธิพลแนวคิดทุนนิยมที่ทำให้เราเชื่อว่า การผลิตงานในชั่วโมงที่ยาวนานและผลของงานสำคัญกว่าความสุข สุขภาพ และการเติบโตของเพื่อนมนุษย์

มาทำไปด้วยกันนะ เริ่มต้นพูดถึงและสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความสุขและสุขภาพของกลุ่ม หรือคอลเลกทีฟเวลบีอิ้ง (collective wellbeing) ที่ไม่ใช่เพียงการบอกให้แต่ละคนดูแลตัวเอง หรือแค่เซล์ฟแคร์ (self-care) แต่คือการดูแลสุขภาพร่วมกันในกลุ่มของพวกเรา

โดยเฉพาะ ถ้าเราคือกลุ่มผู้หญิง หรือมีผู้หญิงอยู่ในกลุ่มของเรา แค่บอกให้ทุกคนดูแลตัวเอง อาจจะไม่ใช่คำตอบ หรือไม่ใช่คำตอบเดียวที่เราทำได้ (ก็อย่างที่เรารู้ มันยากนะคะที่จะทำอะไรฝืนความคาดหวังของสังคม และความคาดหวังที่เรามีต่อตัวเอง และผู้หญิงนักกิจกรรมอย่างเราก็คาดหวังกับตัวเองมากอยู่...)

ถ้าเราเองก็พยายามดูแลตัวเองแล้ว แต่มันยากจังเลย ... ให้เพื่อนช่วยสิคะ

#wellbeingนักกิจกรรม
#ดูแลกันแบบกลุ่ม
#FeministCollectiveWellbeing
#ความสุขและสุขภาพของกลุ่มในมุมมองเฟมินิสต์

บทความ : เต๋า ศรัทธารา หัตถีรัตน์

นักกิจกรรม เลสเบียน เฟมินิสต์ คนเคยทำแท้ง

อีดิท : วรรณิดา

เฟมินิสต์ นักเขียน เลสเบี้ยน ผู้หวังจะทุบทลายโลกชายเป็นใหญ่ได้บ้างจากงานเขียนและวิถีปฏิบัติของตัวเอง เชื่อในความเท่าเทียมและการรับฟัง เชื่อว่าโลกแห่งความเท่าเทียมเป็นไปได้ ตราบเท่าที่เราเลิกกดขี่ตัวเองก่อน พยายามจะเขียนไดอารี่และฝึกลมหายใจให้ได้ทุกวัน

You may also like