Home » อยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและฟังเสียงตัวเอง

อยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและฟังเสียงตัวเอง

by หลังบ้าน

“หลายปีก่อนเราลาออกจากงานที่ทำมาสิบปีมาเป็นฟรีแลนซ์ เลยคว้งอยู่พักหนึ่ง เพราะสมัยที่ทำงาน เราภูมิใจกับมันมาก จนงานกลายตัวตน เป็นหมวกที่เราสวมใส่ พอวันหนึ่งเราไม่มีองค์กรเลยถามตัวเองบ่อยๆ ว่า เราเป็นใคร? เป็นช่วงที่ยาก หลงทาง และไม่รู้จะเอายังไงต่อกับชีวิตดี พอมันแย่จนถึงจุดหนึ่ง เราก็บอกตัวเองว่า ไม่เอาแล้ว มันจะต้องไม่แย่ไปกว่านี้ เราจะไม่พาตัวเองมาที่จุดนี้อีก

ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด เราเลยมีเวลาว่างและเริ่มสนใจเรื่องปลูกผัก เพราะอยากผลิตอาหารด้วยตัวเอง พอเพื่อนลงส่งลิงค์ว่าที่สวนสันติวนาเขารับอาสาสมัครที่จะมาทำงานสม่ำเสมอ 2 เดือน เราเลยลองเอาเวลามาทำตรงนี้ มันเป็นงานที่ทำให้เราได้เห็นภาพรวมของการทำสวนว่าต้องทำอะไรบ้าง ได้เพื่อน แต่ที่สำคัญคือเรารู้สึกว่าตัวเองได้รับการเยียวยาผ่านการทำสวน

แม้ว่าแปลงผักของเราจะไม่สวยเลย เหนื่อยก็เหนื่อย ร้อนก็ร้อน ยุงก็เยอะ แต่กลับไม่รู้สึกเหนื่อยใจ ไม่เหมือนที่ผ่านมาเรารู้สึกหนักตลอดเวลา แม้ว่าจะได้พัก ได้เจอเพื่อน แต่มันก็หนักตลอด การทำตรงนี้มันช่วยให้เราเบาไปเองโดยธรรมชาติ ทั้งๆ ที่ธรรมชาติไม่ได้บอกอะไรเลย ไม่ได้สอนให้ปล่อยวาง ไม่ได้บอกให้เข้าใจแนวคิดอะไรทั้งนั้น แต่มันเกิดขึ้นเอง เหมือนธรรมชาติทำให้เรารับรู้ความจริงผ่านการลงมือทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้า การสัมผัสความชื้น การอยู่กับดิน กับไส้เดือน การได้เห็นการเติบโตของเมล็ด ช่วยชะล้างความคิดของเราที่สับสนวุ่นวาย

ช่วงแรกที่มาทำ เราก็ตัดสินตัวเองหลายอย่างนะ แต่ก็ทำไปๆ เสียงที่ดังก็เบาลง เราอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น รู้สึกว่าเสียงความคิดที่ตัดสินตัวเองจะดังก็ดังไปเถอะ แต่เราจะไปต่อกับงานที่อยู่ข้างหน้า เราอาจจะทำสิ่งที่บางคนไม่เห็นด้วยก็ได้นะ แต่ในวันนั้น เราจำเป็นต้องเลือกทำสิ่งนี้ก่อน ซึ่งการปลูกผักมันช่วยเรามากๆ เพราะเป็นงานที่เลื่อนออกไปไม่ได้ ถ้าไม่ให้น้ำตอนนี้ ผักตายเลย ถ้าไม่ตัดต้นอ่อนวันนี้ ก็ไม่ได้กิน การทำสวนตรงนั้นเป็นเหมือนจุดพัก ที่ทำให้เราผ่านพ้นช่วงช่วงเวลานั้นของชีวิตไปได้”

“ตอนที่เรียนปลูกผัก อาจารย์เคยบอกว่าเพาะต้นอ่อนนี่ราคาดีมากเลยนะ ปลูกก็ง่าย ไม่ต้องมีที่เยอะ ทำได้หลายชนิดด้วย เราฟังแล้วก็เริ่มสนใจ ช่วงปลายปี 2564 เพื่อนชวนเปิดบูธ เราเลยทำชุดเพาะต้นอ่อนขาย ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นกิจการเล็กๆ ของเรา เริ่มเพาะต้นอ่อนขายส่งให้ร้านอาหาร เราก็รู้สึกดีที่ได้ส่งต่ออาหารปลอดภัย ได้เงินจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง

พอทำถึงจุดหนึ่งก็เริ่มถามตัวเองว่าจะเอาไงต่อดี จะขยายเป็นธุรกิจดีไหม แต่ก็ได้คำตอบว่าเราไม่ได้อยากทำธุรกิจ เราสนใจเรื่องบำบัด ที่เราชอบทำสวน เพราะรู้สึกว่ามันเป็นกระบวนการบำบัดเยียวยาอย่างหนึ่ง แล้วการทำชุดเพาะมันก็ไม่ได้ตอบเรื่องนี้เสียทีเดียว ช่วงสองปีที่ผ่านมาเราเลยค่อยๆ พาตัวเองไปเรียนรู้เรื่องการบำบัดมากขึ้น เช่น ไปศึกษาเรื่องสวนบำบัด เจอกับคนที่ทำงานตรงนี้ เรียนรู้เรื่องการบำบัดในถาดทราย (Sand tray Therapy) สิ่งเหล่านี้พาให้เราได้ทำงานกับตัวเอง กับบางเรื่องที่เรายังค้างคาและไม่หายสักที มันช่วยให้เราวางได้ เข้าใจ โดยไม่ต้องใช้เหตุผล ฝึกวางใจกับสิ่งที่เราอาจจะยังไม่เข้าใจในวันนี้ก็ได้ เรื่องราวในใจเราคลี่คลายไปเองแบบนั้น

ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่เราเรียนรู้และฝึกฝนเรื่องนี้อยู่ เริ่มอ่านเริ่มเรียนเกี่ยวกับมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) และสนใจทำงานกับคนมากขึ้น ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเราจะเลี่ยงไม่ทำงานกับคนเลย แต่พอสนใจเรื่องบำบัด เราก็อยากทำงานกับคน อยากรู้จักความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น ลงลึกขึ้น และเราเริ่มยอมรับจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง เมื่อก่อนเราจะฝืน คิดว่าควรปรับปรุงจุดอ่อนของตัวเอง แต่ทุกวันนี้ก็คิดว่า เราน่าจะทำงานกับจุดแข็งที่เรามีมากกว่า มันเหนื่อยที่จะฝืน ซึ่งเราก็พบว่าจุดแข็งของเราไม่ใช่เรื่องข้างนอก แต่เป็นเรื่องที่อยู่ข้างในจิตใจ”

เธออายุ 35 ปี อาสาสมัคร Santi Wana Eco Community ชุมชนนิเวศสันติวนา เจ้าของ Ground & Grow และ ผู้สนใจกระบวนการบำบัดดูแลจิตใจ

พรรัตน์ วชิราชัย

นักเขียนที่ถนัดงานสัมภาษณ์ สนใจประเด็น feminist ความเป็นธรรมทางเพศ ประเด็นสุขภาพจิต ฯลฯ ชอบดูซีรีย์และเดินทางเวลาเหนื่อย

You may also like