“เราเห็นพ่อปลูกผักกินเองแต่เด็กๆ พ่อจัดอบรมต่างๆ ให้ชาวบ้าน เราเป็นพี่คนโตเลยได้เป็นลูกมือของพ่อมาตลอด พ่อลงมือทำเองหลายอย่าง พาลูกเล่น ปลูกผัก ตอกชิงช้า อย่างไม้กวาด ที่โกยขยะ เก้าอี้ไม้ พ่อเอาของเหลือใช้มาทำ ทาสีเอง ตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้เข้าใจอะไรมาก รู้สึกว่าเหนื่อยนะ แต่ก็สนุกมาก (หัวเราะ) เพราะได้ใช้เวลากับพ่อและน้องๆ ภูมิใจเวลามันเสร็จ
พ่อเขาไม่ได้เรียกให้ช่วยหรอก แต่พอเห็นพ่อทำก็เข้าไปเล่นด้วย เขาก็จะบอกให้ไปเอากระดาษไปขัด เราก็ทำ ถ้าเบื่อก็เลิกได้ แต่ก็รู้ว่าถ้าเสร็จก็เป็นผลงานของเรา เวลาฝนตก แม่ก็ชวนไปขัดพื้น มันเป็นงานบ้านที่เราได้เล่นไปด้วย แต่เราก็ใช้ชีวิตแบบคนเมืองทั่วไปนะ ไปห้างบ้าง แต่สิ่งที่ต่างคือหลายอย่างในบ้านเราทำกันเอง สิ่งที่สอดแทรกในชีวิตประจำวันอย่างการพกผ้าเช็ดหน้า พกขวดน้ำ เราก็ทำตั้งแต่เด็กโดยที่ไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมยังไง
พ่อเราทำงานมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ซึ่งทำวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ และมีส่วนที่ฝึกอบรมให้ชาวบ้านเรื่องการเกษตร เอาข้อมูลวิชาการไปบอกเขา แต่พ่อเองก็ไม่เคยทำ ทำๆ ไปเขาก็รู้สึกว่า นี่รู้ไม่จริงนะ มันเลยเป็นจุดที่เขาเริ่มทำด้วยตัวเอง เริ่มจากปลูกผักข้างบ้าน จากแปลงผักเล็กๆ และเริ่มจริงจังขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีลูก สังเกตเห็นเด็กๆ เอาของเข้าปาก เลยตัดสินใจ ลด ละ เลิกสารเคมีในบ้าน และปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีเลย ของในบ้านทำอะไรเองได้ก็ทำ
ตอนเด็กๆ มีอยู่วันหนึ่งที่บ้านไฟดับ แก๊สหมด หิวข้าวมากๆ ตอนนั้นพ่อกำลังศึกษาเรื่องเตาพลังงานแสงอาทิตย์จากกล่องพิซซ่า แกก็ลองชวนทำเลย เราก็ตื่นเต้นมาก เห้ย ทำได้จริงด้วย หุงข้าวได้ มันเป็นอะไรที่พิเศษมาก เป็นของเล่นที่ไม่เหมือนคนอื่นเลย ฉะนั้นตอนเด็กๆ เวลาเราส่งโครงงาน งานเราจะแปลกกว่าเพื่อนเขา ทำเรื่องพลังงานทดแทน ทำเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เอง
เราก็มีช่วงที่ตั้งคำถามนะว่า ทำไมเราต้องทำเอง ทำไมไม่ใช้เงินซื้อเอา เพื่อนชวนไปเที่ยวทีไร เราติดงานอบรมของพ่อช่วงเสาร์อาทิตย์ตลอดเลย แต่สิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมมาก็ทำให้เรามั่นใจว่าเราอยู่ได้ในทุกสถานการณ์ เมื่อเจอวิกฤตหรือปัญหา เราปรับตัวได้ เรายืดหยุ่น และเชื่อมั่นว่าเราจะเจอทางออกจากการลงมือทำ”

“ตอนเด็กๆ เวลาที่เราบอกเพื่อนว่าช่วยพ่อทำงานมูลนิธิฯ เขาก็จะถามว่าทำเหมือนปอเต็กตึ้งเหรอ เราก็บอกไม่ถูกว่าไม่ใช่นะ พอโตขึ้นมาหน่อย เราอธิบายว่าเราทำอะไร เพื่อนก็บอกว่า ดีนะ ทำแล้วได้บุญ เราก็ อืมม ไม่ได้ทำเพื่อได้บุญนะ เพราะเราไม่ได้หวังอะไร เราทำมันเป็นชีวิตประจำวันของเรา ช่วงเรียนมหา’ลัย เราก็สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสอบติดวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้เรียนด้านวิศวะซึ่งสร้างอะไรใหญ่ๆ อย่างโรงงาน ตอนเรียนก็สนุกนะ แต่ตอนฝึกงานได้ลองไปฝึกงานที่โรงงาน เราก็รู้สึกว่าไม่อิน อาจจะไม่ใช่แนวทางของเรา พอเรียนจบมาก็เลยไม่ได้ไปสายตรงวิศวะ แต่มาทำงานมูลนิธิกับพ่อต่อ ดูแลโครงการกระดาษเพื่อต้นไม้ ซึ่งเป็นงานเชิงรณรงค์ด้านการรีไซเคิลกระดาษ
พอมาทำงานมูลนิธิฯก็พบว่างานมันหนักมาก คนทำงานน้อย เราก็ทุ่มสุดๆ ด้านเพื่อนที่เป็นวิศวกรได้เงินเดือนหลายหมื่น ในขณะที่เราเงินเดือนไม่ได้สูงมาก ทำงานออกไปเก็บกระดาษทั่วกรุงเทพ-ปริมณฑล แยกขยะส่งโรงงานรีไซเคิล แล้วนำเงินที่ได้จากการขายกระดาษไประดมทุนปลูกป่าชุมชนบ้าง ปลูกป่าให้ช้าง ซึ่งก็ได้ผลตอบรับดีมากๆ แต่เหนื่อยสุดๆ มีความท้อระหว่างทาง มีความสับสน ทั้งเรื่องเงิน ทั้งเวลาที่ว่างไม่ตรงกับเพื่อน แต่พอหายเหนื่อยก็เลิกคิดเรื่องนี้ อยากทำต่อเพราะเป็นเรื่องที่เราได้ทำประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อม
หลังๆ มา เราเน้นอบรมคนเมืองเรื่องการปลูกผักด้วยตัวเอง การบริโภคผักไร้สารเคมี การพึ่งพาตนเอง ซึ่งเราเป็นที่แรกๆ ที่หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาทำและอบรม ส่วนงานสำนักพิมพ์และวารสารซึ่งเป็นเนื้อหาด้านเกษตร พลังงาน และการพึ่งพาตนเอง กองบรรณาธิการจะต้องลงมือทำให้เข้าใจเสีย หรือเก็บข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้านจนทะลุแล้วถึงจะตีพิมพ์ได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่เข้าใจง่ายและทำได้จริง ซึ่งตอนเด็กๆ ตัวเราก็ไม่รู้หรอกว่ากำลังทำหนังสือด้านเกษตรอินทรีย์หัวแรกในประเทศไทย รู้แต่ว่าช่วยพ่อทำงาน ช่วยพ่อขายหนังสือ
จากการคลุกคลีกับวงการเกษตรอินทรีย์มานาน เราเลยอยากทำพื้นที่ตัวอย่างด้านการพึ่งพาตนเอง จึงก่อตั้ง "สวนผักบ้านคุณตา" สวนแห่งนี้เป็นบ้านเก่าของคุณตาเราเอง และมีพื้นที่ประมาณ 100 ตรว. เราอยากเอาสิ่งที่เป็นตัวหนังสือมาสร้างเป็นรูปธรรมเพื่อทำให้คนเห็นว่าเกษตรในเมืองมันทำได้จริงๆ คุณพึ่งพาตัวเองได้ ปลูกผักกระถาง ปลูกข้าว ปลูกเห็ดได้ ถ้าคุณมีบ้านอยู่ในเมือง ใช้พื้นที่เล็กๆ ตรงระเบียงทำอะไรได้หลายอย่างเลย แรกๆ ก็เป็นที่สนใจของผู้สูงอายุวัยเกษียร แต่หลังน้ำท่วมใหญ่คนหนุ่มคนสาวในก็เมืองสนใจมากขึ้น
หลังจากนั้นเราก็ไปเรียนต่อปริญญาโทเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่เนเธอแลนด์ เพราะเราสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องสิ่งแวดล้อมในเมือง แต่เราไม่ใช่เกษตรกร ซึ่งเมืองเขาล้ำหน้าเราไปเยอะ ตอนอยู่ไทย เวลาเราจะอธิบายกับเพื่อนใหม่ว่าเราทำงานอะไรอยู่ เพื่อนก็จะงงๆ ต้องอธิบายเยอะ แต่คนที่นู้น เราแค่บอกว่าเราทำ Urban farm (สวนในเมือง) ในกรุงเทพ เขาก็ตื่นเต้นมากว่าที่ไทยมีคนทำด้วยเหรอ ได้แลกเปลี่ยนกันเยอะเลย มันทำให้เราต่อยอดว่าจะทำยังไงต่อไปดี บางเรื่องที่เราทำมานานก็เพิ่งมานิยมเอาตอนนี้ สิ่งที่เราเรียนมันมาเสริมความมั่นใจว่าเรามาถูกทางละ เทรนด์โลกมันมาทางนี้แน่นอน
พอกลับมาจากเรียนต่อ เราได้มีโอกาสทำงานให้กับบริษัท Plan Motif ซึ่งทำงานด้านการออกแบบมิวเซียมและศูนย์เรียนรู้ เขาอยากได้คนมาทำศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม วันธรรมดาจึงทำงานตรงนี้ ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็มาช่วยงานมูลนิธิ เรียกได้ว่าเป็นช่วงสองปีที่แน่นมากๆ แต่ก็ทำให้เราได้มุมมองใหม่ ได้ทำงานกับนักออกแบบ หน่วยงานเอกชน สถาปนิก ได้ทำเนื้อหาที่เราสนใจ ได้เจอคนหลากหลาย ได้เครือข่ายที่ดี มีมุมมองด้านสื่อมากขึ้น”

“ปีนี้เข้าปีที่ 10 ที่เราทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและการพึ่งพาตนเอง เราเห็นการเปลี่ยนแปลงนะ เดิมทีเราทำอบรม คนที่สนใจจะมีแต่คนวัยเกษียณ เขาอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ พอเกิดน้ำท่วมใหญ่ คนซื้อหาอาหารยาก เดินทางลำบาก เลยต้องย้ายไปที่อื่น เราก็หลบมาที่สวนผักบ้านคุณตา ปลูกผัก หลบภัย แล้วก็มีทีมเคลื่อนที่เอาชุดเพาะถั่วงอกและเพาะเห็ดไปให้ พาสอนทำเครื่องกรองน้ำง่ายๆ กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ก่อนหน้านี้การเพาะถั่วงอกนี่เป็นเรื่องธรรมดาเลย ใครๆ ก็ทำเป็น เราก็คิดว่าคงไม่มีใครอยากรู้แล้ว เก็บชุดเพาะเข้ากรุ แต่พอเอามาสอนคนในชุมชน กลับมีประโยชน์มากในช่วงน้ำท่วม คนตื่นเต้นมากเลย เราบอกว่าแช่ยังไง โรยเมล็ดยังไง เปิดถังกี่วัน รดน้ำกี่วัน ถังเพาะหนึ่งได้ทีละ 3-4 กก. เพาะแล้วก็เอาไปแจกจ่ายเพื่อนบ้าน เราเห็นผลแล้วใจฟูมากเลย เรื่องเล็กๆ เท่านี้มันก็ช่วยคนอื่นได้
พอเรากลับมาอบรมได้ตามปกติ สถานการณ์มันพลิกเลย คนเมือง คนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน เอาตัวมาเรียน อยากรู้ว่าจะต้องทำไงเหรอถึงจะรอดในวิกฤติแบบนี้ ไปห้างของก็หมด บางคนก็อยากลดค่าใช้จ่าย และมันยังเกี่ยวกับสุขภาพเรื่องสารเคมีด้วย เดี๋ยวนี้อายุน้อยๆ ก็ป่วยได้ ไหนจะกระแสเรื่องโลกร้อน Zero waste อีก (แนวคิดลดปริมาณขยะให้ได้มากที่สุด) หลายคนก็เอาไปทำจริง เราก็มีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น
ตั้งแต่ปี 2561-2562 เรามาพัฒนาพื้นที่ชุมชนนิเวศสันติวนาซึ่งเป็นโครงการร่วมกันของมูลนิธิอุสุรินท์เพื่อการศึกษาแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ กับมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนาซึ่งเป็นผู้ดูแลสถานที่และบริหารจัดการ โดยเอาความรู้ที่เราถนัดมาทำ พยายามรักษาพื้นที่ป่าและธรรมชาติเอาไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และเปิดกว้างกับคนที่สนใจด้านเกษตร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นมากๆ เพราะเรามีกำลังคนไม่มาก แต่สถานที่กว้างถึง 33 ไร่
ตอนนี้เรามองว่าคนที่สนใจเรื่องสวนในเมืองมันไม่ใช่แค่ในกรุงเทพแล้ว มันมีทุกที่เลย เพราะเหตุการณ์ในสังคม ในโลก กระตุ้นให้เกิดวิกฤติหลายอย่าง ทั้งโควิด วิกฤติเศรษฐกิจ ชีวิตมันยากขึ้น คนเลยสนใจการพึ่งตัวเองมากขึ้น เราก็ทำงานตรงนี้ สอนออนไลน์ เปิดให้สั่งซึ่งผักอินทรีย์จากเรา เปิดให้มีอาสาสมัครเข้ามาที่สวนนี้มากขึ้น”


พรรัตน์ วชิราชัย
นักเขียนที่ถนัดงานสัมภาษณ์ สนใจประเด็น feminist ความเป็นธรรมทางเพศ ประเด็นสุขภาพจิต ฯลฯ ชอบดูซีรีย์และเดินทางเวลาเหนื่อย