Home » จากพังทลายสู่การฟื้นคืนตัวเอง

จากพังทลายสู่การฟื้นคืนตัวเอง

by หลังบ้าน

“ตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กอ้วนใส่แว่นที่อ่อนหวาน ไม่มีสำนึกว่าเป็นชายหรือหญิง แต่ไม่เคยรู้สึกว่าเป็นผู้ชายทั่วไปเลย เรามีพี่ชายที่เป็นผู้ชายมากๆๆ แต่รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับพี่ ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มเพื่อนผู้ชาย และไม่เป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มเพื่อนที่ออกสาวด้วย ตอนเด็กๆ เราถูกแกล้งโดยกลุ่มของเพื่อนพี่ชายบ่อยๆ เคยถูกเอาผ้าพันคอลูกเสือมาพันคอจนหายใจไม่ออก ถูกแตะบอลอัด ถูกปล่อยให้รอ ไปจนถึงเคยถูกญาติผู้ชายบังคับจูบ ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดทางเพศนะ แต่มันทำให้เราสับสนมากๆ

พอเป็นวัยรุ่น พี่ชายก็บังคับให้เรา come out จนทำให้เราอยู่บ้านต่อไม่ได้ เพราะที่บ้านพยายามพาไปหาจิตแพทย์ เราเลยหนีออกจากบ้าน ถึงที่บ้านตามกลับไป เขาก็ยังอยากให้เราไปหาหมอตลอด เราเลยเลือกลาออกจากโรงเรียน เริ่มทำมาหาเลี้ยงตัวเอง เป็นชีวิตที่เพื่อนก็ไม่มี บ้านก็ไม่ใช่ที่ปลอดภัย พอโตขึ้นก็เผชิญปัญหาความรักที่ไปต่อไม่ได้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสุขภาพจิต มีช่วงหนึ่งเราถูกละเมิดจากการถูกแอบถ่าย และได้รับความช่วยเหลือจากนักกิจกรรมด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ตัวเราเองก็สนใจเรื่องการเมืองอยู่แล้วด้วย เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่สนใจงานปกป้องสิทธิ พอได้รู้จักกลุ่มโรงน้ำชาซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและประชาธิปไตย ก็พบว่ามีคุณค่าและอุดมการณ์ที่ตรงกัน เลยมาทำงานกับตรงนี้และร่วมผลักดัน พ.ร.บ.สมรมเท่าเทียม

แต่มันไม่สำเร็จ ถูกคว่ำกลับมา ช่วงนั้นเจอวิกฤตโควิดอีก ทั้งเหตุการณ์ทางการเมือง ชีวิต การงาน เศรษฐกิจ มันแย่มาก เราทำงานช่วยคนอื่นเยอะ แต่ข้างในพัง ร่างกายผอมไปกว่า 20 กิโล ทำงานก็ลำบาก เครียด ร้องไห้บ่อย ขัดแย้งกับคนอื่นตลอด เราคิดว่าเราจัดการตัวเองได้ แต่ถึงเวลาจริงแล้วเราไหล เอาตัวเองไม่อยู่ ยิ่งทำให้หมดพลัง ซึ่งทั้งหมดมันมาจากแผลในอดีตกับสิ่งที่เผชิญในตอนนั้นที่ทำให้มีภาวะเครียดเรื้อรัง จนวันหนึ่งเพื่อนถามเราขึ้นมาว่า ทำไมเราไม่ลงมือทำสักที สิ่งที่เราสอนคนอื่น สิ่งที่เราแนะนำคนอื่นเวลาให้คำปรึกษาว่าบอกให้รักตัวเอง ให้กลับมาดูแลตัวเอง

คำพูดนั้นทำให้เรากลับมองตัวเอง และยอมรับว่าเราต้องการเป็นผู้พึ่งพามาตลอดทั้งตอนที่มีแฟนและทำงานเคลื่อนไหว เอาคุณค่าตัวเองไปแขวนไว้กับคนอื่นเพื่อให้ได้รับความยอมรับ แล้วก็ทุกข์มาก นี่เรากำลังทำร้ายตัวเองหรือเปล่า สิ่งที่เราบอกคนอื่น เราปฏิบัติให้เป็นเนื้อเป็นตัวของตัวเองน้อยมาก มันทำให้เราคิดว่าไม่ได้แล้ว เราต้องเริ่มต้นใหม่ ยอมรับว่าเราเองก็ไม่มั่นคง ยอมรับว่าตัวเองมีข้อจำกัด ให้เวลาตัวเอง ให้ความสำคัญกับความรู้สึกความต้องการของตัวเอง เปลี่ยนสภาพแวดล้อม เปิดใจกับความรู้ศาสตร์ต่างๆ ที่ช่วยให้เพิ่มความมั่นคงในตัวเอง ฟังธรรม ทำโยคะ ฝึกหายใจ อยู่กับธรรมชาติ กล้าที่จะเผชิญความเจ็บปวด หาเพื่อนช่วยฟังความรู้สึก ฯลฯ จนปีสองปีที่ผ่านมาตัวเองรู้สึกกลับมาสู่ความปกติได้มากขึ้น

เรารู้สึกว่ามันเป็นกระบวนการคืนอำนาจให้ตัวเอง พอเราเห็นว่าเรารับผิดชอบในทางที่เลือก เราไม่ไปฝากไว้กับคนอื่น เราก็มีความแน่วแน่มากขึ้นว่าต่อไปนี้เราจะทำสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เรารัก นี่คืออำนาจภายในที่ทำให้เรารู้สึกว่าเโตขึ้น เพราะมีอำนาจข้างในที่จะเปลี่ยนตัวเอง อำนาจเหนือก็ครอบงำเราได้น้อยลง เพราะเราเห็นว่าถ้าเราปฏิบัติ ลงมือทำ เราไม่ติดกรอบของสังคม สังคมที่เราอยากเห็นหรือฝันถึงมันเป็นไปได้

ตอนนี้เวลาทำงาน เวลาไปคุย ประสาน วางแผนงาน เรารู้สึกว่าตัวเองชัดและคมขึ้น ปรับเปลี่ยนและสนุกกับงาน เบิกบาน มีพลัง เติบโตกับสิ่งที่ทำ และปฏิเสธคนได้มากขึ้น เอาตัวเองจากพื้นที่ที่ตัวเองไม่โอเคได้ กลับมาที่แก่นว่าเราทำเพราะอะไรได้มากขึ้น เช่น เรื่องสมรสเท่าเทียมก็ยังทำ แต่ทำโดยดึงคนที่เห็นต่างมาคุยเพื่อหาความร่วมมือ ชวนคนมาทำเรื่องอวัยวะเพศหลากหลาย ทำ Pride เยาวชน ทำเบิกบานเฟส ทั้งหมดเป็นงานที่ถึงจะเหนื่อยกาย แต่เหนื่อยใจน้อยๆ มาก เพราะข้างในเราปล่อยวางมากขึ้น โอกาสก็มาหาเรา เรารู้สึกมีอำนาจในการเลือก เวลาเพื่อนนักกิจกรรมที่เผชิญความรุนแรงมาขอคำปรึกษา เราก็ฟังโดยไม่แบกความทุกข์เขาได้ มันเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เราทำได้ในทุกวัน”

“เราได้เรียนรู้เรื่องจิตวิญญาณจากในขบวนนี่แหละ ตอนแรกที่ฟังก็ไม่ซื้อนะ เพราะเราไม่อินศาสนา แต่พอฟังไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามันเป็น เรื่องการเสริมพลังอำนาจภายใน การฟื้นคืนสุขภาวะ เรื่องการจัดการความขัดแย้งในขบวน พี่ที่เป็นกระบวนกรพูดกับเราว่า ‘จิตวิญญาณคุณเข้มแข็งมากนะ ถึงได้ผ่านเรื่องเหล่านี้มาได้’ เรารู้สึกว่าคำนี้มันใช่เลย แม้ว่าตอนนั้นจะยังไม่เข้าใจว่าจิตวิญญาณ แต่เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วมนุษย์ทุกคนมีสิ่งนี้ ยิ่งผ่านความยากลำบากมามาก ข้างในเรายิ่งต้องการเรื่องนี้เยอะ

คำว่าจิตวิญญาณเป็นคำที่สถาบันศาสนาใช้เยอะ มันดูสูงส่ง แต่เราเห็นว่าจิตวิญญาณมันควรเชื่อมโยงและตอบสนองกับชีวิตของเรา สตาร์ฮอว์ค (นักสตรีนิยมและนักเขียนชาวอเมริกัน) บอกว่าจิตวิญญาณคือการที่เราให้ความหมายบางอย่าง เช่น ในสังคมชายเป็นใหญ่จะให้ความสำคัญกับเทพผู้ชายมากกว่าเทพผู้หญิง เพราะเห็นว่าสกปรก เป็นเรื่องเพศ หรือโบราณ แต่เราจะให้ความหมายว่าเทพเจ้าของเราอาจไม่ได้แบ่งเพศก็ได้ เพราะมันทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย

ในมุมของเราจิตวิญญาณมันขาดมุมมองฐานเพศไม่ได้ เพราะหลายครั้งสังคมกลัวและกดเรื่องเพศทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม การเป็นนักเคลื่อนไหวที่ออกมาทำประเด็นนี้ทำให้เราถูกกระแทกอยู่ตลอด เราถูกตีตราว่าเป็นตัวประหลาด เป็นคนบาป นักกิจกรรมด้วยกันเองก็อาจว่าาเราดราม่า ใช้อารมณ์เยอะ ฉะนั้นยิ่งเราทำงานกับข้างนอก เรายิ่งต้องทำงานกับความมั่นคงภายในให้มาก แค่จะยืนยันว่าการที่คุณพูดแบบนี้กับเรา มันกำลังลดทอนคุณค่าของเรา ก็ต้องใช้พลังข้างในเยอะมากๆ นะ นอกจากนี้ระบบในสังคมก็ไม่มีสวัสดิการอะไรมารองรับเราเลย เช่น เราผลักดันสมรสเท่าเทียม แต่ก็ไม่ถึงสักที คนจนเมืองที่ผลักดันเรื่องสิทธิทำกิน ยังไงก็ไม่ได้ ข้างในมันก็พังทลายได้ ถ้าเราไม่ดูแลตัวเอง

ซึ่งการดูแลตัวเอง การรักตัวเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่ในระบบทุนนิยมทำให้ทุกคนคิดว่าต้องทำอีก ต้องเสียสละอีก เรารู้สึกว่าใช่เลย โลกมันเรียกร้องเราเยอะ เราเข้าใจเรื่องนี้ผ่านหนังสือของออเดร ลอร์ด (นักสตรีนิยมและนักเขียนชาวอเมริกันผิวสี) ออเดรบอกว่าสังคมมันค่อยๆ เปลี่ยนนะ เราต้องทำงานระยะยาว ฉะนั้นเราจึงต้องทำอย่างมีความสุข เบิกบาน มั่นคง แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราลืมความทุกข์นะ แต่เรามองเห็นความสุขในชีวิตประจำวันได้ มีความสุข สนุกสนาน และรักในสิ่งที่ทำ”

เขาเป็นเควียร์ หรือ นอนไบนารี่ ผู้ก่อตั้ง Queer Riot

พรรัตน์ วชิราชัย

นักเขียนที่ถนัดงานสัมภาษณ์ สนใจประเด็น feminist ความเป็นธรรมทางเพศ ประเด็นสุขภาพจิต ฯลฯ ชอบดูซีรีย์และเดินทางเวลาเหนื่อย

You may also like