“ช่วงเข้ามหา’ลัย เราเป็นวัยรุ่นที่พยายามค้นหาตัวเองเรื่องเพศวิถี เพราะเราสนใจผู้หญิง แต่ก็เข้าสังคมไม่เก่ง แถมยังไม่ใช่ทอมหรือดี้ เลยไม่รู้ว่าการจะหาแฟนหญิงรักหญิงเหมือนกันได้ยังไง เลยไหลไปตามคนที่เข้ามา ซึ่งตอนนั้นเราเป็นเด็กประหลาดที่สนใจความคิดเชิงวิพากษ์ และค่อนข้างโดดเดี่ยวในความคิดความเชื่อของตัวเอง หนึ่งในความเชื่อของเราคือ ความเชื่อที่ว่าเราเรียนรู้เรื่องเซ็กซ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแฟนกัน ตอนนั้นเรามีเพื่อนและรุ่นพี่ผู้ชายเยอะ ได้แลกเปลี่ยนความคิดกันบ่อยๆ เรามองเขาเป็นเพื่อนที่เกื้อกูลและยอมรับเรา มีเซ็กซ์ด้วยก็ได้ ไม่ได้เสียหายอะไร ทำให้เรามีความสัมพันธ์แบบนี้กับผู้ชายหลายคน
.
สิ่งนี้ทำให้เราถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ที่บ้านตั้งคำถามว่าทำไมเราแบบนี้ โดนหลอกหรือเปล่า แต่เราก็ยืนยันว่าไม่ใช่ เราไม่ได้เสียหายอะไร เลยทะเลาะกับแม่หลายครั้ง จนเสียความสัมพันธ์ที่ดีไป เริ่มป่วยซึมเศร้า เราในตอนนั้นคิดว่าการทำแบบนี้คือการยืนยันความคิดและอุดมการณ์ของเราให้โลกนี้เห็น เลยยืนยันด้วยการมีความสัมพันธ์แบบนี้ต่อไป
.
พอกลับไปที่ความสัมพันธ์ เรารักอีกฝ่ายในฐานะเพื่อน ไม่ได้รู้สึกกับเขาเป็นแฟน แต่ผู้ชายที่เข้ามาก็อยากได้เราเป็นแฟน พอคบไประยะหนึ่งก็มีปัญหา เพราะเราเป็นแฟนให้เขาไม่ได้ พอมีคนใหม่เข้ามา เขาก็ทนไม่ไหวจนเดินออกไปจากความสัมพันธ์เอง เราเองก็เจ็บปวดที่เพื่อนเลิกคบเรา เลยถามกับจิตแพทย์หลายครั้งว่าคนเรามีเซ็กซ์ไปทำไม? มันน่าเบื่อมาก เพราะจริงๆ เราไม่ได้อยากมีสัมพันธ์แบบนี้กับเพื่อน
.
จนคนสุดท้าย เขาทำความรุนแรงทางกายภาพกับเรา ทั้งทำลายข้าวของ ใช้คำหยาบคาย ทำร้ายร่างกาย ทำให้เราติดโรคทางเพศ ทำเราท้อง ไม่ยอมใส่ถุงยาง เราก็ไม่มีขอบเขตอีก ยอม แต่ก็ถามตัวเองว่าทำไมถึงทน ก็พยายามตอบตัวเองว่า เพราะเขาช่วยเราเรื่องเรียนกับเรื่องย้ายคณะไง แต่จริงๆ เราไม่ชอบชีวิตเราเลย ไม่ชอบความจริงว่ายังอยู่กับคนคนนี้
.
หลังจากเราแขนหักและตกเลือดจากการทำแท้ง เลยถามตัวเองว่าเรายอมขนาดนี้ได้ยังไง? เราเริ่มยอมรับว่าวิธีการที่เรายืนยันความคิดของตัวเองมันผิดแล้วละ มันไม่ใช่ เราต้องหยุด เขาต้องเคารพเรา และเราต้องเคารพตัวเอง นั่นเป็นครั้งแรกที่เราตัดสินใจว่าต้องหยุดความสัมพันธ์นี้ด้วยตัวเอง ซึ่งตอนเลิกก็ไม่ง่าย เพราะเหมือนมันเป็นแพทเทิร์นเก่าที่เราทำมานาน แต่พอเวลาผ่านไป เราก็ค่อยๆ ดีขึ้น
.
หลังจากนั้นเราตัดสินใจลาออกจากมหา’ลัย ย้ายไปเรียนรามฯ ซึ่งทำให้เราเจอกลุ่มเพื่อนใหม่ที่เป็นเป็นเด็กต่างจังหวัด เขาไม่เหมือนเพื่อนในสังคมเก่าเราเลย ไม่สนใจเรื่องการแข่งขัน ไม่นินทา ไม่ตัดสินคนอื่น ไม่ทอดทิ้งเรา ในช่วงที่เราดิ่งแล้วมีพฤติกรรมของโรคซึมเศร้า เช่น กรีดข้อมือ อยากฆ่าตัวตาย ไปยืนบนดาดฟ้าตึก หรือการที่เราหลงทางตลอดเวลา เพื่อนก็ไม่โวยวาย ไม่ด่า ไม่สอน ไม่แปลกใจ แต่ทำความเข้าใจ แล้วก็อยู่ด้วย ยอมรับเราอย่างที่เป็น สิ่งแวดล้อมนี้ทำให้เราดีขึ้นมากๆ ระหว่างนั้นเราก็เริ่มมีแฟนผู้ชายคนแรกซึ่งคบกันยาวนาน เขาน่ารักมากและทำให้เราก้าวข้ามโรคซึมเศร้าได้
.
เราพบว่า เมื่อก่อนเรามีความสัมพันธ์โดยไม่เคยเป็นคนเลือกเลย เราไม่ได้คิดจะเป็นแฟนกับใคร พอไม่แฮปปี้กับความคาดหวังของอีกฝ่าย เราก็อดทนจนกว่าเขาจะเดินออกไปเอง แต่กับคนสุดท้าย เรายืนยันว่าเราจะออกมา เราไม่เอาความสัมพันธ์แบบนี้ การเลือกครั้งนั้นทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองมากๆ เราอยู่ได้ด้วยตัวเองครั้งแรกโดยไม่ต้องมีคนใหม่ เพราะจริงๆ เราอยากอยู่คนเดียว แต่มันเหงามากๆ เลยยอมมีความสัมพันธ์แบนี้ พอวันที่เราต่อสู้กับความเหงาแล้วปล่อยให้ความเคารพตัวเองชนะ เราเริ่มรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง เรายอมรับในตัวเอง สิ่งนี้มีค่ามากกว่าความโหยหาการยอมรับจากคนอื่น ตรงนั้นเองที่ทำให้เราหยุดเอาความหมายของตัวเองไปฝากไว้กับคนอื่น”


พรรัตน์ วชิราชัย
นักเขียนที่ถนัดงานสัมภาษณ์ สนใจประเด็น feminist ความเป็นธรรมทางเพศ ประเด็นสุขภาพจิต ฯลฯ ชอบดูซีรีย์และเดินทางเวลาเหนื่อย