Home » คุยกับหนิง อำพร การผ่านพ้นความรุนแรง สู่เป็นผู้ปกป้องสิทธิในชุมชนปกาเกอะญอ

คุยกับหนิง อำพร การผ่านพ้นความรุนแรง สู่เป็นผู้ปกป้องสิทธิในชุมชนปกาเกอะญอ

by หลังบ้าน

“ตั้งแต่เล็กจนโตพี่พยายามต่อสู้ให้ตัวเองได้เรียนหนังสือ ต้องแอบหนีไปโรงเรียน ต้องฝ่าฟันแม่และพี่สาว เพราะเขาไม่ให้เราเรียน อยากเรียนต่อเราต้องพยายามหาทางเรียนด้วยตัวเอง ทำงาน ดิ้นรนทุกอย่างเพื่อส่งตัวเองเรียน พอเราโตขึ้น เราถูกข่มขืนจากผู้มีอิทธิพลที่เรารู้จัก เราไม่รู้จะไปปรึกษาใคร เพราะว่าเราถูกสอนมาตลอดว่า ผู้หญิงต้องไม่เสื่อมเสีย ถ้าเราถูกทำให้เสื่อมเสีย เราจะเป็นผู้หญิงไม่ดี จึงต้องซ่อนเอาไว้ จนเรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้วเลยบอกแม่ เราคิดว่าแม่คือคนที่สามารถเข้าใจเราได้มากที่สุด แต่มันกลับตรงข้าม แม่ซ้ำเติมเรา บอกว่าเราทำตัวเราเอง เราไม่ดีเอง กลับกลายเป็นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือบาปที่เราสร้างขึ้น เราต้องยอมรับสภาพ
.
เราถูกกระทำความรุนแรงเยอะมาก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ไม่สามารถปรึกษาใครได้เลย เพราะว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหาเขาจะโทษผู้หญิง บอกว่าเราผู้หญิงไม่ดี เป็นลูกที่ไม่ดี เป็นภรรยาที่ไม่ดี ทุกอย่างโยนมาที่ตัวเราหมด พี่เลยรู้สึกหนักมาก จนคิดว่าในเมื่อเราเป็นลูกที่ไม่ดี ถ้าแต่งงานไปก็เป็นภรรยาที่ไม่ดี เราจะมีชีวิตอยู่ทำไม? เลยคิดกินยาฆ่าตัวตาย พอดีตอนนั้นเพื่อนในมหา’ลัยมาเจอเรา เลยพาไปหาหมอ เราก็พยายามรักษาตัวเองให้ดีขึ้น แต่ก็ใช้เวลานานมาก เพราะทุกครั้งที่เรานอนหลับ เหตุการณ์ที่ถูกกระทำมันก็จะกลับมา เราตกใจตื่นแทบทุกคืน ร้องไห้ทุกคืน กว่าจะผ่านมาได้ก็ใช้เวลาหลายปี เพราะเราต้องเรียนและทำงานไปด้วย
.
พอเรียนจบออกมา เราก็คิดว่าต่อไปเราจะทำงานหาเงินมาดูแลแม่ แต่ว่ามันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เพราะเราเจอผู้ชายคนหนึ่งที่เราคิดว่าเป็นเพื่อน ไม่ได้รัก แต่ก็ถูกกระทำจากคนคนนี้อีก พอเจอเหตุการณ์นี้ เราก็ถูกประณามจากคนในครอบครัวและชุมชนอีกว่าเราเป็นผู้หญิงไม่ดี ท้องก่อนแต่ง ผิดจารีตประเพณี สุดท้ายคนนี้ก็มาเป็นสามีเรา เพราะถ้าเราเสียตัวให้ใครไป สังคมบอกว่าเราต้องยอมรับคนคนนั้น ไม่ว่าเราจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เราต้องเป็นเมียเขา ต้องแต่งงานกับเขา ใช้ชีวิตกับเขาไปจนแก่จนเฒ่า
.
ตอนที่ท้องลูก เราไม่มีความสุขเลยแม้แต่วินาทีเดียว ร้องไห้ทุกวัน ไม่มีกระจิตกระใจจะทำงาน เพราะถูกใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำจากสามี เราอยากได้กำลังใจ อยากได้คนเข้าใจ แต่ก็ไม่มีเลย มีแต่คำพูดแย่ๆ จากแม่ พอเราคลอดลูก ลูกป่วย เราต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลกับลูกเพียงลำพัง สามีก็ไม่มาดู
.
ช่วงนั้นเหนื่อยมาก ท้อมาก แต่ก็คิดว่าเราท้อไม่ได้ เพราะถ้าเราตาย ใครจะดูแลลูก เราพยายามทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น ไม่เครียด ยาซึมเศร้าที่เคยกินก็เลิก เพราะมันมีผลข้างเคียงกับลูกในท้องเยอะ แต่สุดท้ายก็ต้องกิน เพราะเจอเรื่องที่มันหนักมาก แม้แต่ตอนที่ลูกยังเล็กอยู่ สามีก็บังคับให้เราไปนั่งข้างเวทีมวยจนถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง มีทั้งกลิ่นบุหรี่ กลิ่นเหล้า เสียงดังมาก ถ้าเราไม่ไปก็ถูกด่า มันเจ็บปวดในใจเรามาก ทำไมเราต้องมาเจอคนคนนี้? ทำไมชีวิตเราต้องเป็นแบบนี้?
.
เราคุยกับแม่ว่าอยากจะเลิกกับผู้ชายคนนี้ แม่ก็บอกว่าเธอเป็นคนเลือกเขาเองนะ เธอเป็นคนหาผู้ชายคนนี้เข้ามาในชีวิตเอง เธอต้องยอมรับเขาให้ได้ เธอต้องทนอยู่กับผู้ชายคนนี้จนตายจากกัน ถ้าเขาทำร้ายเธอจนเธอตายก็ถือว่าเป็นเวรเป็นกรรม เราฟังแล้วก็น้ำตาตกใน คิดว่า มันใช่เหรอ เราต้องทนอย่างนี้ตลอดไปเหรอ เราพยายามให้โอกาสเขาตลอด ขอให้กินเหล้าและเที่ยวให้น้อยลงได้ไหม เพราะทุกครั้งที่เขากลับมา เขาใช้คำพูดรุนแรงกับเรา แต่เขาก็ไม่เคยปรับปรุงตัวเองเลย ซึ่งทุกครั้งที่เราคุยกับคนอื่นๆ เรื่องนี้ก็ไม่มีใครเปิดใจฟังเรา ทุกคนพูดคำเดียวกันว่ามีสามีดีกว่าไม่มี
.
วันหนึ่งเขาเอามอเตอร์ไซค์ซึ่งเป็นชื่อเราให้เพื่อนไปขี่ แล้วเอาไปจำนำพนันบอล ตอนนั้นเราเครียดมาก เพราะเลี้ยงลูก ไม่มีรายได้อะไร รถก็ต้องใช้ เราขอให้พี่น้องช่วย ก็ไม่มีใครช่วยเรา แต่มีพี่ชายคนหนึ่งที่ให้กำลังใจเราเสมอ เขาเห็นว่าเราแย่ก็มาช่วยและกู้เงินให้เรา เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราคิดว่า ฉันต้องออกจากชีวิตผู้ชายคนนี้ให้ได้ เราจะทำอย่างไรดี พอดีมีผู้หญิงคนนึงที่เป็นแกนนำที่ทำงานอยู่กับองค์กรเครือข่ายสตรีชนเผ่าเขาชวนเราไปอบรมสิทธิสตรี พี่ก็อยากจะรู้ว่าสิทธิสตรีมันจะช่วยผู้หญิงแบบเราได้ไหม พี่เลยตัดสินใจไปอบรม
.
การไปอบรมทำให้พี่ได้เจอเพื่อนที่เจอเหตุการณ์คล้ายๆ กับเรา บางคนหนักกว่าเรา บางคนน้อยกว่าเรา มันทำให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยว อาจารย์ก็คอยให้กำลังใจ แนะนำว่าเราควรทำอย่างไรถึงจะออกจากปัญหานี้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราตามหามานาน อยากเรียนรู้มานาน เพราะเราถูกกระทำมาตลอดชีวิต ถูกสอนจากครอบครัวว่าผู้หญิงไม่มีสิทธิอะไรเลย ไม่มีสิทธิจะพูด ไม่มีสิทธิเลือกอะไรทั้งนั้น แต่สิ่งที่เราเรียนมันตรงข้ามเลย มันกลายเป็นว่า ผู้หญิงทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะเจอเรื่องราวอะไรมา สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำลายคุณค่าของเราลง
.
พี่เลยตั้งใจว่าเราจะต้องออกมาจากจุดที่เราเจอให้ได้ สักวันนึงเราต้องเป็นอิสระ ในเมื่อเราอยู่เองได้ ในเมื่อเขาไม่ได้ดูแลเรา เขามาเกาะเราด้วยซ้ำไป ทำไมเราต้องทนให้สามีเขาใช้ความรุนแรงกับเรา ทำไมเราต้องฟังคนอื่นด่าว่าเรา ทั้งๆ ที่คนอื่นก็ไม่ได้มาเจ็บปวดกับเรา ไม่ได้ถูกกระทำแบบเรา
.
วันหนึ่งพี่ก็ตัดสินใจบอกทุกคนว่าพี่จะเลิก แม่พี่โกรธมาก พูดว่าถ้าเธอทิ้งสามี เธอออกจากบ้านฉันไปเลย ฉันจะไม่ให้อะไรเธอแม้แต่นิดเดียว พี่ก็บอกว่าไม่ให้ก็ไม่เอา พี่ไม่ได้ต้องการสมบัติอะไรของแม่อยู่แล้ว พี่คิดว่า พี่หาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาดูแล ถ้าต้องทนอยู่ในสภาพนี้ไปตลอดชีวิต พี่ก็ไม่เอา
.
เมื่อก่อนเราจะคิดว่าการเถียงพ่อแม่คือบาป ทำไม่ได้เด็ดขาด แต่พอเรากล้าที่จะเข้าใจตัวเอง เคารพตัวเองว่าเราก็เป็นคนคนหนึ่ง เรามีความรู้สึก เราไม่จำเป็นต้องทนอยู่ในสภาพที่คนอื่นกำหนดให้ เราก็พูดออกไปตรงๆ เลย หลังจากนั้นเราก็เตรียมตัวว่าจะย้ายออกไปอยู่ข้างนอกกับลูก แต่ท้ายที่สุด พี่ชายก็ตัดสินใจลองคุยกับเขา เพราะเห็นว่าเขาใช้ความรุนแรงกับเราจริงๆ แล้วนอกจากใช้ความรุนแรงกับเรา เขายังกระทำกับตัวเองด้วย เพราะเขาติดยาเสพติด น่ากลัวว่าจะฆ่าตัวตายเข้าสักวัน สุดท้ายเลยได้แยกทางกัน
.
พี่คิดว่าผู้หญิงสมัยก่อน เขาไม่กล้าออกจากความรุนแรงในครอบครัว เพราะอยู่ในภาวะพึ่งพิงสูง เช่น ผู้หญิงชนเผ่าจะมองว่า ถ้าผู้หญิงอยู่คนเดียว ไม่มีสามี เขาจะถูกผู้ชายคนอื่นเข้ามาทำอะไรก็ได้ เวลาจะไปไหนมาไหนคนเดียวก็กลัว ผู้ชายบางคนก็มีที่ดิน มีมรดก ผู้หญิงก็ยิ่งรู้สึกว่าต้องพึ่งพาสามี ด้านพ่อแม่เองก็ไม่ค่อยส่งเสริมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ ทำให้กลัวว่าจะพึ่งตัวเองไม่ได้ หางานทำลำบาก ตัวพี่โชคดีที่ดิ้นรนเรียนหนังสือจนจบ มันเลยทำให้พี่รู้สึกว่าพี่พึ่งตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องทน
.
ทุกวันนี้แม่พี่เขายังคิดถึงผู้ชายคนนั้นนะ พูดตลอดเลยว่าให้อยากให้เขากลับมาอยู่กับเรา จะได้มีพ่อแม่ลูกครบ เขามองว่าการมีพ่อแม่ลูกคือเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่สวยงาม แต่สำหรับพี่ ไม่ ถ้าต้องอยู่กับผู้ชายแบบนี้ ต้องกลับไปถูกกระทำอีก พี่ขออยู่กับลูกสองคนตลอดชีวิตดีกว่า
.
บางทีพี่ก็น้อยใจแม่ที่ไม่เคยเห็นใจพี่เลย แต่ก็เข้าใจได้ว่า แม่เป็นผู้หญิงชนเผ่าที่ไม่ว่าลูกจะทำอะไรก็ตามคนรอบข้างจะโทษมาที่แม่ แม่คงกลัวคนอื่นมองว่าคนอื่นมองว่าตัวเองสอนลูกไม่ดี ลูกถึงได้เป็นแบบนี้ ซึ่งการที่พี่ต่อต้านแม่ ต่อต้านความคิดความเชื่อที่เป็นจารีตประเพณี คนในชุมชนมองพี่ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เป็นผู้หญิงหัวแข็ง ก้าวร้าว ทั้งท้องก่อนแต่ง ทำให้ครอบครัวเสื่อมเสีย พอแต่งงานก็ทิ้งสามีอีก เลยถูกจ้องมองตลอดเวลา ถูกมองว่าเราเป็นแบบอย่างที่สอนให้ผู้หญิงรุ่นใหม่หัวแข็ง แต่พี่ไม่ได้คิดสอนใคร พี่คิดว่า ชีวิตเรา เราต้องกำหนดเอง เรามีสิทธิเลือกเอง เพราะไม่มีใครมาอยู่ มาช่วยเหลือเราได้ตลอดชีวิต”

กล้าที่จะพูด กล้าที่จะปกป้องสิทธิ

“สำหรับพี่การเรียนรู้เรื่องสิทธิ มันทำให้เรานึกถึงคนอื่นด้วย เวลาที่เห็นคนอื่นถูกกระทำ เราจะกล้าพูด กล้ายืนยันว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง เช่น สองปีก่อนมีตำรวจเข้ามาในชุมชนตอนตีห้าเพื่อจับผู้ชายคนหนึ่งที่เสพยาเสพติด วันนั้นเป็นงานผูกข้อมือประจำปีของหมู่บ้าน ตำรวจมาล้อมบ้านพี่คนนั้นเยอะมาก เอาปืนมาจ่อ พูดจาไม่ดี เสียงดัง ในบ้านนั้นคือเมียและลูกเล็ก เด็กก็ตกใจ ร้องลั่นเลย พี่ก็คิดว่าต้องไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น เลยเอาลูกที่นอนหลับอยู่มัดหลังแล้วเดินไปหา
.
พอไปถึงพี่ก็ถามว่า พวกคุณมาทำอะไรกัน ทำไมมาในวันที่หมู่บ้านมีพิธีกรรมสำคัญ ในบ้านมีเด็กอยู่ด้วย ทำไมต้องใช้ปืนจ่อ ทำไมต้องใช้คำพูดรุนแรงและทำร้ายพ่อต่อหน้าเด็ก ตำรวจก็มองพี่แล้วถามว่า เธอเป็นใคร พี่ก็บอกว่า พี่คือคนในชุมชนนี้ แต่สิ่งที่คุณทำมันไม่ถูกต้อง เด็กเขาไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย เขาก็ถามพี่อีกว่า เธอทำงานอะไร พี่ก็ตอบว่าไม่ได้ทำอะไร เป็นคนในชุมชนนี่แหละ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็เหมือนเบาลง ไม่ด่าเสียงดัง แล้วเด็กก็เงียบลง
.
อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นตอนนี้พี่ไปเป็นอาสาสมัครในโครงการล่ามชุมชน ช่วยแปลภาษาปกาเกอะญอเป็นภาษาไทย แปลไทยเป็นปกาเกอะญอ ให้คนไข้ซึ่งมีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่และเด็กที่ไม่สบาย ตอนนั้นพี่พาพี่ที่ป่วยเป็นโรคภายในผู้หญิงไปโรงพยาบาล เขาไม่ค่อยกล้าคุยกับใคร ปวดท้องมาก นอนไม่หลับมา 3-4 วันแล้ว ไม่ไหวแล้วช่วยพาไปหาหมอหน่อย
.
ช่วงนั้นเป็นวันหยุดยาว แต่เราก็คิดว่าไม่เป็นไร อย่างน้อยไปให้หมอจ่ายยาที่ช่วยให้เขาพอนอนหลับได้บ้าง พอไปถึงโรงพยาบาลก็เจอหมอเป็นผู้ชาย พี่ก็สวัสดีหมอ เขาก็บอกว่าวันนี้คนไข้มา แต่คนไข้จะไม่ได้รับการตรวจอะไรเลยนะ พี่ก็เข้าใจ เพราะเวลาไปตรวจที่แผนกต่างๆ เขาจะมีรอบเวลาของเขา เช่น อัลตร้าซาวด์เด็กจะนัดทุกวันพุธ ทำฟันให้มาเฉพาะวันนี้เวลานี้ ตรวจภายในผู้หญิงเองก็เหมือนกัน
.
พี่ก็เลยถามหมอว่า คนไข้ควรจะมาอีกทีวันไหนถึงจะได้ตรวจครบทุกอย่างตามอาการที่เขาป่วย แต่หมอกลับตอบกลับมาว่า ‘ที่บ้านคุณมีปฏิทินไหม’ พี่ก็ตอบว่า ‘มีค่ะ' เขาก็ถามต่อว่า 'ดูปฏิทินเป็นไหม' พี่ก็ตอบ 'เป็นค่ะ' 'แล้วคุณรู้ไหมว่าวันนี้วันหยุด' พี่ก็บอกว่า 'รู้ค่ะ วันนี้หยุดราชการ' เขาถามต่อว่า 'อยู่ประเทศไทยไหม' แล้วก็มองหน้าพี่ ซึ่งวันนั้นเราใส่ชุดชนเผ่าด้วย
.
พอเขาพูดมาอย่างนี้ พี่ก็พูดกับหมอว่า 'สิ่งที่คุณพูดนี่มันไม่สมควรออกมาจากปากคุณเลยนะ เพราะว่าคุณเป็นหมอ คุณมีหน้าที่แนะนำคนไข้ เวลาคนไข้สงสัยหรือญาติคนไข้สงสัยอะไร เราก็ถามหมอ หมอก็มีหน้าที่ตอบ แต่คุณไม่มีหน้าที่มาพูดแบบนี้กับคนไข้'
.
หมอก็มองหน้าพี่และพูดว่า 'เธอมาวันนี้ เธอมาเพื่อด่าหมอใช่มั้ย?' พี่ก็ตอบกลับว่า 'ฉันทำงานล่ามตรงนี้ ฉันไม่มีเงินเดือนแม้แต่บาทเดียว ฉันมาตรงนี้ด้วยจิตอาสา แต่คุณมาทำหน้าที่ของคุณตรงนี้ คุณมีเงินเดือนกิน และจรรยาบรรณความเป็นหมอ เวลาที่คนไข้ถามคุณ คุณมีหน้าที่ตอบคนไข้ ไม่ใช่คุณมีหน้าที่มาว่าคนไข้แบบนี้' หมอก็ว่า 'แล้วจะให้หมอทำยังไง' พี่ก็บอกว่า 'คุณก็ต้องคิดเองว่าคุณต้องทำยังไง เพราะคุณเป็นหมอ คิดให้ได้สิ'
.
ตอนนั้นพี่รู้สึกแบบสุดๆ เลยนะ ถ้าวันนั้นคนไข้เยอะ พี่ก็จะเข้าใจได้นะว่าหมอเครียด งานเยอะ แต่วันนั้นวันหยุดแทบไม่มีคนไข้เลย แล้วคุณมาอารมณ์เสียอะไร สุดท้ายหมอก็เลยบอกว่า 'ขอโทษ' พี่ก็บอกว่า 'คุณขอโทษ ใช่ แต่ต่อไปคุณอย่าทำนิสัยแบบนี้อีก เพราะว่ามันไม่ใช่'
.
พี่มองว่าการที่เราเรียนรู้เรื่องสิทธิ มันช่วยตัวพี่ให้กล้ายืนยันความต้องการของตัวเอง กล้าที่จะปกป้องตัวเราเอง พอพี่ช่วยตัวเองได้ พี่ก็จะช่วยคนอื่นได้ ปกป้องคนอื่นที่ถูกละเมิดแบบนี้ได้ แต่หลายๆ คนก็มองว่าพี่เป็นคนหัวรุนแรง แต่พี่ไม่คิดแบบนั้น เพราะถ้าคุณเฉยๆ เขาก็จะทำคุณแบบนี้ไปตลอด โดยที่ไม่รู้ว่าเขาไม่ควรทำแบบนั้น”

งานของชีวิต

“งานอาสาล่ามชุมชนที่พี่ทำอยู่ นอกจากจะไปส่งคนไข้ไปโรงพยาบาล ช่วยแปลภาษา ช่วยดำเนินการเรื่องเอกสารต่างๆ เรายังแนะนำเขาเรื่องการกินยา ดูแลช่วยเหลือเขา ถ้ามีปัญหาอะไรก็มาปรึกษาเราได้ตลอด เช่น เพราะผู้หญิงชนเผ่าถูกปลูกฝังว่าเรื่องภายในเนื้อตัวร่างกายไม่ควรเอาไปให้ใครรับรู้ พอเราทำหน้าที่เป็นล่าม ผู้หญิงหลายๆ คนก็กล้ามาปรึกษาเรื่องปัญหาเนื้อตัวร่างกายเขามากขึ้น บางคนมีภาวะซึมเศร้า เราก็ทำหน้าที่เยียวยาซึ่งกันและกัน ช่วยกันเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้หญิง
.
พี่รู้สึกว่างานจิตอาสา งานด้านยืนยันสิทธิ มันเป็นชีวิตจิตใจของพี่ เป็นสิ่งที่พี่ตามหามานานว่าอะไรที่พี่ชอบ งานไหนที่ทำแล้วมีความสุข แต่แม่พี่จะบอกว่าเธอเรียนจบครูมา ทำไมเธอไม่ทำงานครู เพราะการเป็นข้าราชการครูเนี่ยมีเงินเดือนแน่นอน เป็นอาชีพที่มั่นคง ทำไมมาทำงานแบบนี้ รายได้ก็ไม่มี มั่นคงก็ไม่มั่นคง พี่ก็บอกว่า ไม่รู้นะ แต่ละคนอาจจะคิดไม่เหมือนกัน แต่สำหรับพี่ เราเกิดมาบนโลกนี้ ทำไมเราต้องกอบโกยหาประโยชน์เข้าตัวเองอย่างเดียว ทำไมเราไม่คิดทำอะไรให้คนอื่น แม้ว่าเราไม่มีเงินเดือน ไม่มีอะไร แต่ทุกครั้งที่พี่ได้ช่วยเหลือคนคนหนึ่ง เรามีความสุข เรารู้สึกยิ้มได้กับชีวิต
.
มันมีผลกับชีวิตและจิตใจพี่มาก เหมือนเราได้บำบัดตัวเองด้วย เพราะพอเราได้ทำงานที่ชอบ เราก็รู้สึกมีว่าเราเห็นคุณค่าของตัวเอง จากที่พี่เคยคิดว่าตัวพี่ไม่มีคุณค่า ทำอะไรไม่เป็นเลย พอมาทำงานตรงนี้ พี่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ช่วยเหลือคนอื่นได้ เวลาคนอื่นเจอเรื่องหนักๆ อย่างน้อยที่สุดเรารับฟังด้วยความเข้าใจได้
.
อย่างผู้หญิงชนเผ่าเนี่ย ทุกคนทำงานหนักมาก ภาระทุกอย่างตกอยู่ที่ผู้หญิง มีทั้งภาระงานบ้าน งานสวน ดูแลลูก ทุกอย่างเลย แล้วสุดท้ายเราจะลืมดูแลตัวเอง ยิ่งอายุมากขึ้นสุขภาพก็ยิ่งแย่ เพราะผู้หญิงใช้สุขภาพตัวเองเพื่อคนอื่นมาตลอด พี่เลยอยากให้ผู้หญิงหันมานึกถึงตัวเอง ดูแลตัวเอง มีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น พี่เลยอยากจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาในการดูแลตัวเองไม่ว่าสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตให้คนในชุมชน เพราะตัวพี่ก็เคยเจอมาหนัก เราอยู่ตรงนี้ เราให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ เรื่องไหนเราไม่รู้ เราก็มีเพื่อนมีเครือข่ายที่จะคอยรับไปอีกที
.
ตอนนี้พี่พยายามศึกษาเรื่องสมุนไพรในชุมชนอยู่ เพราะมันเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้เรา เราเห็นทุกวัน อย่างพี่สะใภ้ของพี่ เขาคลอดลูกแล้วไม่ได้อยู่เดือน พอออกไปทำงาน โดนฝน เขาก็ป่วย คนเหนือเรียกอาการนี้ว่าลมพิษเดือน คือเนื้อตัวหนาวเย็นและมีความคิดกังวลสูงมาก จนกลายเป็นว่าไม่อยากอยู่แล้ว ร้องไห้ พอไปโรงพยาบาล หมอก็ส่งไปจิตเวช แต่กินยาแล้วอาการก็หนักกว่าเดิม สุดท้ายแกเลยไม่ไปหาหมอ เลือกรักษาแบบใช้สมุนไพร จนทุกวันนี้กลายเป็นคนที่รู้เรื่องสมุนไพรดี แล้วก็เอามาช่วยคนอื่นต่อ และเรื่องสมุนไพรทำให้พี่นึกถึงกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน คนกลุ่มนี้เขาอายุมาก ทำงานไม่ได้แล้ว บางคนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า พี่ก็เลยคิดว่าอยากสร้างพื้นที่ให้ผู้สูงอายุที่มีความรู้ภูมิปัญญาสมุนไพรมาทำกิจกรรมให้คนในชุมชน ชวนกันคุย ชวนกันนั่งแช่มือแช่เท้า น่าจะช่วยให้ทุกคนมีความสุขมากขึ้นได้”
.
เธอเป็นหญิงปกากะญอ เป็นนักกิจกรรมหญิงในเครือข่ายสตรีชนเผ่า
(เรียบเรียงจาก ปูเสื่อคุย EP01 - คุยกับหนิง อำพร: สิทธิและสุขภาพใจของผู้หญิงในชุมชนปกาเกอะญอ :

พรรัตน์ วชิราชัย

นักเขียนที่ถนัดงานสัมภาษณ์ สนใจประเด็น feminist ความเป็นธรรมทางเพศ ประเด็นสุขภาพจิต ฯลฯ ชอบดูซีรีย์และเดินทางเวลาเหนื่อย

You may also like