พื้นเพชีวิต
“พี่เป็นคนลพบุรี เกิดในครอบครัวใหญ่ มีพี่น้อง 10 คน พี่เป็นคนที่ 8 พ่อแม่ทำไร่ ปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ชีวิตพออยู่พอกิน แต่หนี้เยอะ เพราะเกษตรกรสมัยก่อนต้องพึ่งพาฟ้าฝน เงินทุนหมุนเวียนก็ไม่มี ต้องกู้มาลงทุน เวลาจะปลูกอะไรก็ปลูกเหมือนๆ กันหมด เพราะถ้าปลูกต่างออกไปก็ไม่รู้ว่าจะมีคนมารับซื้อไหม ฉะนั้นตอนผลผลิตออกก็จะถูกกดราคา พอขายแล้วไม่ขาดทุนก็คืนทุน พอจะทำไร่ใหม่ก็ต้องไปกู้ใหม่ วนไปแบบนี้ ไม่มีทางหลุดพ้นจากหนี้สินได้เลย แม่ก็อยากหมดหนี้เลยตัดสินใจขายที่ที่ทำไร่เพื่อกลับไปอยู่ที่ดินบ้านเกิดซึ่งอยู่อีกอำเภอ แต่ก็โดนโกง จนต้องไปขายที่ดินยายเพื่อหลุดหนี้
.
ตอนนั้นเราอายุ 17 เรียนจบมัธยม 3 แล้ว ตัดสินใจไม่เรียนต่อเพื่อให้พี่น้องมีโอกาสได้เรียน ใจเราผูกพันกับบ้านไร่ พอพอแม่ขายที่ ต้องย้ายก็ไม่โอเค เพราะไม่คุ้นแถวนั้นเลย พี่เลยตัดสินใจออกจากบ้านไปอยู่กับพี่สาวที่ทำงานโรงงานทอผ้าที่รังสิต แม่ก็ไม่เห็นด้วยนะ เพราะเขาเป็นคนหัวโบราณ ไม่อยากให้ลูกสาวที่อายุน้อยกว่า 20 ไปอยู่ข้างนอก กลัวเราไปทำตัวเหลวแหลก กลัวทำชื่อเสียงเสียหาย
.
แต่ชีวิตโรงงานก็ไม่ง่ายนะ เด็กๆ เราไม่เคยถูกข่มเหงรังแก อยู่บ้านใครๆ ก็เกรงแม่ เกรงพี่ชายเพราะเขาเป็นนักเลง พอมาอยู่สังคมโรงงาน เราต้องมาเจอยามที่พกปืน เสียงดัง และกร่างมาก เราปั่นจักรยานจอดไว้ ขากลับก็หารถตัวเองไม่เจอ เพราะโรงงานคนเยอะ รถจอดกันเป็นพันคัน พอเราแยกไปจอดตรงอื่น ยามก็จับจักรยานทุ่มไปที่จักรยานคันอื่นจอดอยู่ จักรยานก็ล้มทับกันเป็นโดมิโน่ จะดึงออกก็ยาก บางทีรถก็เสีย เรียกร้องจากใครก็ไม่ได้ เพราะเขาเสียงดังและมีปืน
.
เวลาทำงานก็โดนหัวหน้างานด่าว่าทำงานช้า ทั้งๆ ที่ทำช้าเพราะทำละเอียด ไม่ค่อยต้องซ่อม พอเขาไม่พอใจก็มายืนด่าเหมือนวัวเหมือนควายให้เราอาย แต่ละวันต้องทำงานอย่างน้อยวันละ 12 ชั่วโมง ออกจากบ้านตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น กลับบ้านก็มืด เรียกได้ว่าไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ระหว่างทำงานก็ง่วงมากๆ อยากนอนก็นอนไม่ได้ แต่คนงานชาย ช่าง ซุปเปอไวเซอร์ก็ชอบนอนโชว์ แต่เราต้องทนง่วงทำงานต่อ
.
โรงงานก็เป็นโกดังมืดๆ ไม่มีหน้าต่าง เวลาไฟดับทีเรามองคนข้างหน้ายังไม่เห็นเลย ถ้าคนงานเป็นลม พวกเราก็ต้องช่วยกันหามไปห้องพยาบาลเอง มันน่ากลัวมาก คิดบ่อยๆ ว่า ถ้าเกิดไฟไหม้เราจะรอดจากที่นี่ได้ไง หรือรถรับส่งสองแถวที่รับส่งพนักงานเนี่ยก็มีไม่พอ มีคนต้องโหนยืนตรงท้ายรถ บางทีบันไดก็หักระหว่างวิ่ง เราก็เห็นเพื่อนกลิ้งตกรถลงไปกับตา
.
สัญญาจ้างก็เป็นสัญญาชั่วคราวเดือนต่อเดือน พอพนักงานเต็มเขาก็โอนย้ายเราไปอีกโรงงานหนึ่ง มันเหมือนเราไม่ใช่คนนะ เขาอยากจะจับเราย้ายไปอยู่ตรงไหนก็ได้ แล้วมารู้ทีหลังว่าโดนโกงค่าล่วงเวลามาตลอด ตามกฎหมายต้องจ่ายชั่วโมงละ 15 บาท แต่เขาจ่ายชั่วโมงละ 5 บาท บางทีไปทำโอทีวันอาทิตย์ ก็จ่ายเป็นลูกอม 3 เม็ดแบบนี้ หรือถ้าวันไหนเขาอยากอยากบังคับให้เราทำโอที พอถึงเวลาเลิกงานก็ล็อคประตูโรงงาน ผู้จัดการกับยามขึ้นปืนลูกซองขู่ตรงป้อมหน้าโรงงาน คนงานก็กลัว จำใจต้องทำงานต่อ แถมผู้จัดการก็หื่นมาก ชอบลวนลามคนหญิงในโรงงาน เราไม่โอเคเลย
.
เราเลยเกิดคำถามตลอดว่าทำไมเราทุกคนต้องทนกับอะไรแบบนี้ด้วยวะ ชีวิตคนงานมันเป็นแบบนี้เหรอ? เมื่อก่อนเราเห็นพี่สาวเวลากลับบ้านมาสวยเชียว มีเงินใช้ เลยฝันว่าอยากอยู่กรุงเทพบ้าง โดยที่ไม่รู้เลยว่าชีวิตจริงมันต้องเจออะไรแบบนี้
.
ตอนนั้นพี่ไม่รู้จักคำว่าสิทธิหรือสหภาพแรงงานเลย เป็นคนงานเย็บผ้าที่ทำงานตามได้รับมอบหมาย แต่วันหนึ่งพี่ในโรงงานก็ส่งจดหมายน้อยมาให้ ซึ่งมาจากญาติเขาที่เป็นสหภาพแรงงานในโรงงานเครือเดียวกัน ชวนกันว่าเย็นวันนี้หลังเลิกงานให้ไปเจอคนจากสหภาพแรงงานอีกโรงงาน แล้วห้ามบอกหัวหน้างานรู้เด็ดขาด ต้องอาศัยชุดที่มันคล้ายกันเพื่อแอบเข้าไป พี่ก็ไม่รู้หรอกว่าสหภาพคืออะไร แต่สนใจคำว่าแอบๆ เข้าไป เห้ย น่าสนุกอ่ะ ก็เลยตอบตกลงว่าไป พอเดินเข้าไปโดยยามจับไม่ได้ รู้สึกโคตรชนะเลย (หัวเราะ)
.
พอไปถึงเลยได้รู้ว่าสหภาพแรงงานคือตัวแทนคนงานที่เรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของแรงงาน แล้วก็รู้ว่าถ้าถูกจับได้อาจต้องตกงาน คนงานที่ไปด้วยกันก็กลัว พอนัดอีกรอบเลยมีคนไปแค่ 5 คน ซึ่งน้อยเกินไปที่จะตั้งสหภาพแรงงาน พี่อีกคนที่เป็นตัวหลักก็โดนขู่ ความเถื่อนของสมัยก่อนคือคนเป็นสหภาพฯ มีสิทธิถูกฆ่าได้ สมัยนั้นรังสิตยังเป็นป่าทุ่ง ไม่เจริญเหมือนตอนนี้ พี่คนที่พาไปเลยกลัวและลาออกจากงาน
.
ช่วงต้นปี 2531 เราได้รับคำปรึกษาเรื่องการเรียกร้องเกี่ยวกับค่าโอที เลยแอบแจกใบปลิวแถลงการณ์เรื่องนี้หน้าจักรเย็บผ้าทุกตัวเพื่อบอกว่าเราทุกคนถูกโกง ตามกฎหมายแล้ว นายจ้างต้องให้โอทีเราชั่วโมงละ 15 บาท หลังจากนั้นนายจ้างยอมขึ้นค่าโอทีเป็น 10 บาท คนก็สนใจมากว่า เห้ย ใครทำว่ะ? แต่เมื่อก่อนพี่เป็นคนไม่ค่อยพูด น้องอีกคนก็ขี้อาย เงียบๆ คนเลยคิดไม่ถึงว่าเราทำ
.
หลังจากนั้นก็เกิดกลุ่มใต้ดินเล็กๆ ที่จัดตั้งให้เกิดสหภาพแรงงานในโรงงาน เราเลยได้ไปสัมมนาเพื่อ เรียนรู้เรื่องสหภาพแรงงาน เรียนรู้เรื่องมาร์กซิสม์ ซึ่งแรกๆ ก็ไม่เข้าใจหรอก แต่พอเรียนซ้ำๆ มันก็เห็นประโยชน์ มันช่วยทำลายความเชื่อบางอย่างที่ฝังหัวมานาน เช่น ครอบครัวพี่ทั้งบ้านกลัวผีมาก นักอบรมก็อธิบายว่าการเห็นผีมันเกิดขึ้นได้ยังไง สมองเราทำงานยังไง พอได้ฟังแค่คืนเดียวก็หายกลัวเรื่องผีจนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้นเลยเลิกเชื่อเรื่องงมงาย เรื่องเพ้อฝัน แต่เชื่อแต่อะไรที่พิสูจน์ได้ อะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ พี่ก็ใช้เวลาทำกลุ่มลับอยู่ 2 ปี เพื่อลับคมทางความคิดและรวมกลุ่มคนงานในโรงงานซึ่งทำให้ชีวิตพี่เปลี่ยนไปเลย
.
พอพี่อายุครบ 20 ปี พี่ก็ตั้งสหภาพแรงงานได้ตามกฎหมาย พี่เริ่มเห็นว่าคนในโรงงานน่าจะเอาด้วยก็ตั้งสหภาพแรงงานเลย เราก็คิดว่าทันทีที่เปิดรับสมัครคนคงจะกรูมาเต็มไปหมด แต่ไม่ใช่เลย เพราะสังคมโรงงานชายเป็นใหญ่มาก ทุกคนต้องกลับไปถามสามีว่าจะยอมให้เป็นสมาชิกสหภาพฯไหม ถ้าสามีไม่ให้สมัคร ก็สมัครไม่ได้ เขากลัวจะเป็นพวกหัวรุนแรง กลัวจะมีปัญหากับโรงงาน เราก็ต้องใช้เวลาอีก 4 ปี เพื่อทำงานจัดตั้งหนักมากๆ คือไปกินไปนอนกับเขาเลย ไปสอนหนังสือให้คนงานที่อ่านเขียนไม่ได้ มีอะไรช่วยกัน ไปหาบ่อยๆ จนสนิทกับครอบครัวเขา อาศัยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแบบนี้ สุดท้ายให้ภรรยามาเป็นสมาชิกและกรรมการสหภาพแรงงานได้
.
แรกๆ ที่ทำก็โดดเดี่ยว แต่ยิ่งทำยิ่งรู้สึกว่ามีพี่น้องที่ไม่ทิ้งเรา อย่างช่วงหนึ่งหลังรัฐประหาร พี่ไปให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องแรงงานและการเมือง สันติบาลนอกเครื่องแบบก็มาเฝ้าและมีข่าวว่าเราอาจถูกนายจ้างแจ้งความ พี่คนหนึ่งพูดขึ้นมาว่าไม่ต้องห่วงนะ ถ้าถูกจับขึ้นมา หลังเลิกงานจะไปเฝ้าที่โรงพักทุกวัน เราเลยรู้สึกไม่กลัว เพราะเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว รู้สึกถึงความเข้มแข็งของพี่น้องแรงงานในโรงงานที่เอากับเราด้วย ถือเป็นช่วงเวลาที่พี่เริ่มผ่อนคลาย ยิ้มได้มากขึ้น มีเพื่อนมากขึ้นทั้งจากการเรียนในมหา’ลัย จากคนงานวัยเดียวกัน สังสรรค์ กินเหล้า เล่นบทเพลงจากป่าซึ่งเป็นบทเพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้น”

ชีวิตการเป็นนักสหภาพแรงงาน
“หลังจากนั้นพี่ก็ออกมาทำงานเป็นนักสหภาพแรงงานช่วงปี 2537 ทำงานจัดตั้งกลุ่มเยาวชน แต่ทำได้ 4 ปีก็หมดทุน หลังจากนั้นชีวิตก็ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะงานสหภาพส่วนใหญ่เป็นงานอาสาสมัคร ไม่ค่อยได้เงินอะไร ได้แต่ค่ารถมาประชุม พี่พยายามกลับไปทำงานโรงงาน เพราะรายได้มันแน่นอนกว่า ช่วงที่ชีวิตลำบากมากๆ แม่ก็เรียกให้กลับบ้าน แต่เราไม่กลับ เพราะรู้ว่าถ้ากลับต้องไปอยู่ในกรอบของแม่และเรายังอยากทำตรงนี้ต่อ หลายงานก็ควักกระเป๋าตัวเอง ชีวิตเลยเป็นหนี้เป็นสิน จมทุนๆ ไปเรื่อยๆ
.
ก่อนรัฐประหารปี 2557 พี่อายุเริ่มเยอะ แค่สมัครงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาดยังไม่ได้เลย เป็นช่วงที่ชีวิตถอยหลัง ไม่มีเงินกินข้าว พี่ต้องกินข้าวแค่วันละมื้อ ขนาดค้นเหรียญทั่วบ้านเพื่อซื้อมาม่าซองเดียวก็ยังไม่มี บางวันต้องยอมเป็นลมเพื่อจะได้ไปกินข้าวที่โรงพยาบาลประกันสังคม ไม่กล้าขอใคร เพราะหนี้เยอะมาก ความโชคดีคือพี่เพื่อนเยอะ มีเพื่อนและน้องๆ คนงานที่เห็นว่าเราสำคัญ ช่วยซื้อข้าวให้กิน พี่ไม่ลืมพวกเขาเลย
.
ก่อนรัฐประหารยังได้ไปสัมมนา ได้ค่ารถไปประชุมบ้าง แต่หลังรัฐประหารยิ่งแย่ใหญ่ สัมมนาทั้งหมดถูกยกเลิก พี่หงายท้องเลย จนไปขึ้นพูดเวทีคนอยากเลือกตั้ง คนในแวดวงนอกแรงงานเลยรู้จักเรามากขึ้น เริ่มกลับมามีงานให้ทำ ไปช่วยงานวิจัย พานักวิจัยลงพื้นที่ พอได้มาทำงานเป็นนักจัดตั้งสหภาพแรงงานที่รังสิต เราก็เคลื่อนไหวประเด็นการเมืองมากขึ้น นักสหภาพแรงงานที่ต่างประเทศเริ่มเห็นว่าเราเคลื่อนไหวกันลำบากจึงสนับสนุนให้ทำงานต่อเนื่องจนถึงตอนนี้
.
หลายคนบอกเราว่า ผู้นำแรงงานบางคนใช้ประโยชน์จากการเป็นแกนนำจนมีตำแหน่ง ร่ำรวย แต่ทำไมเราจนจังวะ เพื่อนเลยบอกว่าเลิกเหอะ เดี๋ยวให้เงินไปตั้งตัว ค้าขายของตัวเอง บางคนก็ชวนไปทำงานเป็นนักสหภาพแรงงานที่ต่างประเทศ ชีวิตจะได้สุขสบายขึ้น เราก็คิดนะ ยิ่งสู้ยิ่งจน ควักกระเป๋าตัวเอง แต่ก็ไปไม่ได้ เพราะเราคิดว่าทำจนอายุจะ 50 แล้ว อีกไม่นานก็ตาย ไหนๆ จะตายแล้วก็ทำต่อไปเถอะ งานหลักคือสร้างคนรุ่นใหม่ เพราะถ้าวันหนึ่งไม่มีเรา เราป่วย ตาย หรือต้องติดคุก ก็ยังมีน้องๆ สู้ต่อ เวลาที่ทำงานก็คิดเสมอว่าเราไม่ได้ทำอย่างโดดเดี่ยว เลยมีกำลังใจทำต่อ
.
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พี่ทำเรื่องนี้ไม่ยอมหนีไปไหน เพราะเราเคยถูกดูถูกสารพัดว่าสู้ไม่ได้หรอก เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงทำไม หรือตอนที่สู้คดีเพราะถูกเลิกจ้างตอนที่ทำสหภาพแรงงานแห่งแรก ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างคนหนึ่งก็พูดว่า เนี่ย เรียนรามก็ไม่จบ รับเงินจากนายจ้างไปสิ จะได้เรียนต่อให้จบ ไม่ต้องสู้คดีหรอก แต่พี่ไม่ผิดไง พี่ก็ตัดสินใจไม่รับเงิน ขอสู้คดีให้จบเพื่อกลับเข้าทำงาน เขาก็พูดต่อว่าตอนผมอายุเท่านี้ก็ไฟแรงแบบนี้แหละ แต่เดี๋ยวอายุ 30 กว่าคุณก็หมดไฟแล้ว แล้วจะเสียใจที่ไม่รับเงิน ถึงเราไม่อยู่คนอื่นก็สู้ต่อ เราก็คิดว่า ไฟหมดอะ มันของมึง ไม่ใช่กู สิ่งที่เราทำคือหน้าที่พลเมืองคนหนึ่ง ถ้าเราอยากกินอยู่ดี เราจะรอให้ใครมาสู้แทนไม่ได้หรอก พี่ไม่อยากทำแบบนั้น แล้วถ้าเราสู้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง เราจะภูมิใจมาก
.
พี่พบว่าถ้าคนเล็กคนน้อยรวมตัวกันและสู้อย่างต่อเนื่องมันเปลี่ยนได้จริงๆ อย่างตัวพี่ กว่าจะมีสหภาพแรงงานต้องใช้เวลา 2 ปี ตั้งได้แล้วแต่คนงานไม่เข้มแข็งก็ต้องทำงานอีก 4 ปี หรือเรื่องกฎหมาย พี่ก็เคยเรียกร้องให้ยกเลิกกฏหมายสัญญาจ้างชั่วคราว เพราะเราเคยเป็นลูกจ้างชั่วคราวมาก่อน ชีวิตไม่มั่นคงเลย ทำงานเดือนต่อเดือน สุดท้ายก็สู้กับรัฐบาลจนยกเลิกได้
.
อย่างประกันสังคม เมื่อก่อนก็ไม่มี เวลาไปโรงพยาบาลทุกครั้งเราจะเห็นคนใส่ชุดคนไข้วิ่งหนีออกมา เพราะไม่มีเงินจ่าย บุรุษพยาบาลก็ต้องวิ่งไล่จับ เวลาไปหาหมอ เราก็ต้องบอกหมอทุกครั้งว่าอย่าจ่ายยาเยอะ แล้วก็ควักให้ดูว่ามีเงินแค่นี้ ถ้าหมอจ่ายเยอะ เราไม่มีเงินจ่าย หรืออย่างที่บ้านเกิดพี่ เวลาคนแก่ป่วยเป็นมะเร็งก็ไม่ไปรักษา เพราะไม่มีเงิน เขาก็นอนร้องโหยหวนเพราะปวดมาก เสียงมันดังก้องไปทั้งภูเขา ถ้าวันไหนเงียบคือเขาตายแล้ว เราเห็นเหตุการณ์ที่คนจนต้องเลือกระหว่างความป่วยกับการไม่มีอะไรจะกินมาตั้งแต่เด็ก พอเคลื่อนไหวเรื่องประกันสังคมกันได้สำเร็จ มันเลยดีมาก เวลาต้องไปหาหมอ เราโล่งใจ ยิ่งยุคที่มีการแข่งขันทางการเมืองจนทำให้เกิด 30 บาท คนก็ไม่ต้องทรมานกับความป่วยแบบเมื่อก่อนอีก
.
ฉะนั้นสิ่งที่สู้ กว่าจะได้มา มันยากมาก แต่ถ้าเราเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง มันทำได้ คนในอดีตที่เคลื่อนประกันสังคม เขาก็ไม่ได้ใช้หรอก ตายไปก่อน ฉะนั้นเรื่องรัฐสวัสดิการที่เราเคลื่อนๆ กันอยู่ตอนนี้ก็เหมือนกัน เราก็ไม่รู้หรอกว่าช่วงชีวิตนี้จะได้ใช้ไหม แต่เราต้องส่งต่อเรื่องนี้ให้มันอยู่ในกระแสสังคมตลอด อย่าให้มันหายไป”

คุณภาพชีวิตของเราไม่อาจแยกขาดกับการเมือง
“คำว่าสหภาพแรงงานไม่ควรเกี่ยวกับการเมืองเนี่ย จริงๆ คำนี้เป็นไปไม่ได้เลย เพราะทันทีที่คุณเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ นี่คือการเมืองแล้ว หรือแค่เรียกร้องค่าชดเชยที่นายจ้างไม่จ่าย คุณก็ต้องเรียกร้องกับรัฐ ฉะนั้นเราไม่มีทางพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ถ้าไม่ยุ่งกับการเมืองเลย และหลักในการเคลื่อนเรื่องแรงงานคือเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ฉะนั้นพี่เลยติดตามการเมืองและเคลื่อนไหวตลอดทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร บางคนออกหน้าไม่ได้เพราะทำงานประจำ แต่คนที่อิสระอย่างพี่ พี่คิดว่าต้องพูด ถึงจะเสี่ยงหรือโดนคดีก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่พูดเลยมันไม่มีทางเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่ต้องเตรียมคือทำอย่างไรไม่ให้ขบวนการเรียกร้องถูกตัดหายไป
.
หลังรัฐประหาร พี่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องแรงงานกับการเมือง สันติบาลก็มาตามเฝ้าเราทุกวัน ไปไหน ทำอะไร เขาตามตลอด สมัยนั้นพี่ไม่รู้ว่ามันน่ากลัว มีวันหนึ่งเลยก็คุยกับเพื่อน 7-8 คนว่า เห้ย ยังไงตำรวจก็ต้องไปทางเดียวกับเราอยู่แล้ว เราก็ไม่ค่อยมีเงิน ขอให้เขาขับรถไปส่งให้เลยดีไหม พอลองถาม เขาก็โอเค คงเห็นว่าเราเป็นเด็กๆ เลยโอเค เราก็นั่งหน้า เขาก็บอกว่า เนี่ย เก๊ะหน้ารถมีปืนนะ เราก็ถามว่าจริงเหรอ? แล้วก็เปิดดู พอเห็นปืนเราก็ไม่กลัว เพราะโตมากับบ้านไร่ เห็นปืนแต่เด็ก เลยคว้าปืนมาดู เท่านั้นแหละเขารีบปิดเก๊ะเลย ล๊อคกุญแจ หรือตอนที่เรียกร้องให้มีกฎหมายประกันสังคม เราก็ต้องหนีสันติบาลตลอด จนปี 2535 สุจินดาหมดอำนาจถึงจะเลิกตาม พอมายุค คสช. ส่วนใหญ่ตำรวจเขาจะเหยียดพวกคนงานว่าไม่มีความรู้ ทหารจะข่ม ตบโต๊ะ ต้องมาเดี๋ยวนี้ ต้องเชื่อฟังเขา
.
การทำตรงนี้พี่รู้ว่ามันเสี่ยง แต่ที่สู้มาจนถึงวันนี้พี่ก็คิดว่าพี่ไม่ได้สู้อยู่คนเดียว เรามีพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ร่วมเคลื่อนไหว ตลอดทางเราเห็นคนโดนจับ เข้าคุก สูญหาย ตาย ลี้ภัย ฯลฯ มันเจ็บปวดมากนะ เพราะบางคนก็เป็นพี่น้องที่เคยทำงานด้วยกัน และเราเห็นว่าน้องๆ เสียสละกันเยอะมาก เวลาเห็นเด็กรุ่นลูกหลานสู้กว่าเรา ในขณะที่เราแก่ขนาดนี้ ถ้ามานั่งกลัว ก็อายเด็กมัน
.
- มีอะไรอยากบอกการเคลื่อนไหวในตอนนี้ไหม?
จริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่ให้กำลังใจคนอย่างพี่เยอะมาก ก่อนมีเยาวชนมาสู้ หัวใจเรามันแฟบจนไม่เหลือหลออะไรแล้วนะ พอคนรุ่นใหม่ออกมาสู้แล้วพูดจนสุดปลาย มันทำให้หัวใจเรากลับมาพองโต กลับมาทำงานเหมือนตอนเป็นสาวๆ ได้อีก พอมาถึงวันนี้คนรุ่นใหม่หลายคนถูกจำคุก โดนคดีกันเต็มไปหมด ถ้าลงโทษตามที่ฟ้อง บางคนต้องจำคุกเป็นร้อยปี เป็นสถานการณ์ที่ยากและพี่ก็ไม่รู้จะให้กำลังใจอย่างไร แต่อยากให้เข้มแข็งในสิ่งที่เจอ อยากให้มองว่าอย่างไรเสียก็จะมีพวกพี่อยู่ตรงนี้ไม่หนีหายไปไหน พี่ขอตอบแทนด้วยการกระทำว่าจะไม่ถอยไปจากขบวน”

ครอบครัวและการดูแลความเครียดความมั่นคงในตัวเอง
“ครอบครัวไม่เห็นด้วยที่เรามาทำอะไรแบบนี้นะ เขาเป็นห่วงเรา พี่สาวที่ทำงานโรงงาน ก็รู้ว่าน้องอาจได้รับอันตราย พี่ชายก็ตบตีเราเพื่อให้เราหยุดทำงานกับสหภาพฯ แม่นี่ไม่พูดกับเราเลย ไม่กินของที่เราซื้อไปฝาก ด่าว่าไปทำไม เดี๋ยวก็ได้ท้องกลับมา เพราะเข้าใจว่าเราไปทำเรื่องไม่ดี ไปกับผู้ชาย ทั้งๆ ที่เราไปสัมมนาและทำงานกับเพื่อนหลายคน เราก็รู้สึกแย่ เพราะตอนนั้นเราไม่ได้คิดจะคบใครเป็นแฟนเลย สนใจแต่เรื่องเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น คิดด้วยซ้ำว่าการมีแฟนคือขัดขวางการทำงานของเรา
.
พี่สาวก็กังวลเพราะเราเป็นวัยรุ่นที่ไม่เหมือนคนอื่น ไม่ไปดูหนัง ไม่ไปห้าง ไม่เที่ยว ไม่มีแฟน ไม่แต่งตัว เวลาแวะไปหาก็ไม่เคยยิ้ม เคร่งเครียด สนใจแต่จะสู้กับรัฐบาล ด่านายจ้าง ไม่คุยอะไรที่เด็กวัยรุ่นทั่วไปเขาทำกันเลย พี่เขามองแล้วก็ห่วง ซึ่งช่วงนั้นวันๆ พี่คิดแต่เรื่องสู้รบและทำงานหนักมากจริงๆ
.
แต่พี่ก็มีวิธีคลายเครียดของพี่ พี่เคยเที่ยวแบบที่วัยรุ่นเขาไปกัน ไปเที่ยวผับเที่ยวเทค แต่ก็ไม่ชอบ ทั้งแสง สี เสียงดังๆ เราชอบไปเที่ยวธรรมชาติมากกว่า พอถึงช่วงปีใหม่ พี่จะไม่กลับบ้าน แต่เก็บเงินจัดทริปเดินป่ากับเพื่อน และข้อดีคือพี่เครียดไม่นาน เรารักตัวเอง พอโตขึ้นเราก็เลี้ยงหมา หมานี่มันพึ่งพาให้เราเลี้ยงดู แต่เราพึ่งมันทางใจ เวลาไปข้างนอกแล้วพี่โมโหแรงๆ พอเดินเข้าบ้านแล้วเจอหมา ความโกรธลดลงทันทีเลย 50 เปอร์เซ็นต์ มันช่วยเยียวยาใจพี่ได้ดีมากๆ ระยะหลังพี่ก็ชอบปลูกต้นไม้ ปลูกแล้วตายก็ไม่เป็นไร ปลูกใหม่ พอได้เห็นการเจริญเติบโตแบบนี้ มันให้พลังใจกับเรา
.
ส่วนเรื่องครอบครัว พี่ใช้เวลานานมากๆ แทบจะทั้งชีวิตเพื่อให้เขาเข้าใจ แม่ไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องเดินขบวน ทำไมต้องทำงานแบบนี้ เวลาใครถามว่าลูกสาวทำงานอะไร ก็อธิบายไม่ถูก แต่พอวันหนึ่งผู้ใหญ่บ้านคนเก่าเปิดฟาร์มเลี้ยงหมู เขาต้องดมขี้หมูทุกวัน เลยอยากร้องเรียนนายอำเภอให้ย้ายฟาร์มนี้ไปอยู่ที่อื่น ไม่จะรู้ทำยังไง ไม่รู้จะถามใคร เขาก็ปรึกษาพี่ พี่ก็แนะนำว่าต้องร้องเรียนยังไง เขาก็เริ่ม อ๋อ แบบนี้เหรอที่แกเป็น
.
หรือพี่ชาย วันหนึ่งเพื่อนเขาถูกเลิกจ้าง ไม่รู้ทำยังไงก็มาขอคำแนะนำ เราก็แนะนำจนเขาไปดำเนินคดี และได้เงินชดเชยมาสองแสนบาท หรือเวลาไปติดต่องานราชการ คนจนจะไม่ถูกเห็นหัวเท่าไหร่ เขาก็ขอให้เราช่วย มันก็ทำให้เขารู้ว่าเส้นทางที่น้องเขาเดินมันเป็นแบบนี้
.
ยิ่งพอแม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เรากลับไปดูแลครอบครัว หลายครั้งที่ต้องซื้ออุปกรณ์การแพทย์แพงๆ พี่ก็จะเป็นคนกลางช่วยระดมเงินจากพี่น้อง เขาก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราเป็น ทักษะที่เรามี มันพึ่งพาได้ระดับหนึ่ง สุดท้ายเขาเข้าใจแค่ไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่รู้สึกได้รับการยอมรับพอสมควรแล้ว”

การเป็นแกนนำหญิงในขบวนแรงงาน
“ผู้นำแรงงานหญิงเนี่ยไม่ค่อยได้รับความยอมรับจากผู้นำแรงงานชาย เราเคยได้ยินกระทั่งว่า กรรมการสหภาพแรงงานที่มีแต่ผู้หญิง สหภาพฯจะพัง ไปไม่รอด
.
ตอนที่ยังเด็กๆ เราก็ถูกแต๊ะอั๋งจากนักกิจกรรมด้วยกันบ่อย พูดจาหมาหยอกไก่ มาจับมือ ลองดูสิว่าเราจะสนใจเขาไหม แต่พี่เป็นคนปากไว เสียงดัง ก็ด่าเลย ไม่สนใจ เลยเบรคอะไรได้พอควร หรือตอนเป็นงานเลี้ยงปีใหม่ รองผู้จัดการก็เข้ามาหอมแก้ม พี่แค้นมากเลยชกหน้ากลับ ชุลมุนวุ่นวาย เป็นคดีความ ฉะนั้นเวลาไปช่วยแรงงานชาย พี่เลยต้องระวังตัวมาก
.
พี่เคยช่วยสหภาพแรงงานที่โรงงานยานยนต์แห่งหนึ่ง พอเห็นเราเป็นผู้หญิง เขาก็พูดหยามว่าทำงานโรงงานเขายังไงก็รวยกว่าเราที่ทำโรงงานเย็บผ้า เวลาไปผับ เขาอยากจะเรียกผู้หญิงคนไหนมานั่ง มานอนด้วยก็ได้ เราก็ โหย คิดแบบนี้แล้วจะทำงานร่วมกับเขายังไงเนี่ย เลยถามเขากลับว่าคุณคิดว่าตัวเองมีค่าขนาดนั้นเลยเหรอ ถ้างั้นลองเดินเข้าไปผับที่เดิมอีกครั้ง แต่บอกว่าไม่มีผมเงินเลย ขอข้าวกินหน่อย มานอนกับผมหน่อย ผู้หญิงเขาจะสนใจคุณไหม หรือจริงๆ แล้วเขาเห็นค่าของเงิน ไม่ได้เห็นค่าของคุณ? พูดเสร็จก็คิดอยู่นะว่าเขาต่อยเราไหม แต่ปรากฏว่าเขาอึ้งไป หลังจากนั้นก็โทรมาขอโทษ บอกว่าสิ่งที่พี่พูดสอนเขามากๆ ทำไมเขาคิดอะไรแย่ๆ กับผู้หญิงแปลกหน้าได้ขนาดนี้
.
เวลาไปร่วมกลุ่มเรียนรู้กับขบวนการแรงงาน เราก็พูดเรื่องชนชั้น เรื่องการกดขี่ทางเพศ ผู้ชายก็ชอบลุกขึ้นมาพูดทำนองว่า ผมไม่ได้กดขี่ผู้หญิงเลย ผู้หญิงสิ กดขี่ผม ทุกวันนี้ผมยังต้องตักน้ำให้เมียอาบทุกวัน ต้องล้างจาน ถูบ้าน ฯลฯ เราก็บอกว่าความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่การทำอะไรให้กันนะ แต่ถ้าคุณมีลูกผู้ชายแล้วเขาเสพยา พาผู้หญิงเข้าบ้านมามากหน้าหลายตา แล้ววันหนึ่งลูกสาวทำแบบเดียวกัน พี่จะคิดกับสองคนนี้เหมือนกันไหม ก็ไม่ เขาก็เริ่มเข้าใจว่าบางเรื่องผู้หญิงทำแล้วเขารับไม่ได้ มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง
.
ล่าสุดตอนไปช่วยคนงานสิบล้อ คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยตามข่าวสารบ้านเมืองเท่าไหร่ วันๆ ได้นอนแค่ชั่วโมงเดียว นอนหลับบนรถก็หลับไม่ค่อยดี บางคนก็เล่นยา มีอาการประสาทหลอน พอต้องทำงานช่วยเขา ไปนำเสนออะไร เขาก็ไม่ฟังเรา จะรอแต่แกนนำชาย เคยปรี่จะมาชกพี่สองรอบ ข่มขู่ ถือมีด ฯลฯ เราก็ต้องระวังเยอะ”
เธออายุ 52 ปี เป็นตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
#maymonth


พรรัตน์ วชิราชัย
นักเขียนที่ถนัดงานสัมภาษณ์ สนใจประเด็น feminist ความเป็นธรรมทางเพศ ประเด็นสุขภาพจิต ฯลฯ ชอบดูซีรีย์และเดินทางเวลาเหนื่อย