ความรังเกียจเลือดจากจิ๋มตัวเองที่อยู่ลึกมากๆ
“เราเป็นคนเมนส์มาเร็ว มาตั้งแต่ตอนป.6 แล้วมาเยอะ มาที 7-10 วัน มันทำให้เราเกลียดเมนส์มาก เพราะเราถูกเพื่อนแซว ทำให้รู้สึกต้องพยายามแอบซ่อนไว้ตลอดเวลา แล้วเมนส์มันก็เลอะทุกที่ที่เราไป ที่นั่ง ที่นอน และช่วง 3 วันแรกเราจะปวดท้องเมนส์มากๆ ยิ่งโตก็ยิ่งเกลียดช่วงเวลามีเมนส์ เพราะปกติเราเป็นคนแอคทีฟ แต่พอเมนส์มาเรากลายเป็นคนอ่อนแอ
ประสบการณ์ที่แย่มากคือตอนไปถ่ายรูปกับญาติในชุดไทย วันนั้นเราใส่กางเกงในหลวมๆ พอเมนส์มาเยอะเราก็ทำชุดไทยที่เขาให้เช่าถ่ายรูปเลอะไปด้วย โดนญาติผู้ชายที่เป็นลุงต่อว่า เลยเกลียดช่วงเวลาที่เมนส์มามาก ไม่เคยพูดดีๆ ถึงมันเลย ไม่ชอบเลือดตัวเอง เคยกระทั่งฝันว่าถ้าตัดมดลูกทิ้งออกไปได้ มันจะดีแค่ไหน เพราะเราจะได้ไม่ต้องเป็นเมนส์อีก
นอกจากตัวเราจะไม่ชอบ เราก็รู้สึกว่าคนรอบตัวเราก็รังเกียจ ตอนเด็กๆ เราเคยสงสัยว่าก้อนหนังสือพิมพ์ที่แม่แอบไว้คืออะไร พอไปแกะดูก็พบกองผ้าอนามัยที่เหม็นๆ เลือดๆ พอโตขึ้น เราจะฝากเพื่อนซื้อผ้าอนามัยตอนทำงานยุ่งๆ ก็ไม่มีใครยอมซื้อให้ เราต้องกดแอปเรียกให้คนขับรถซื้อผ้าอนามัยมาให้ คนขับกดรับแต่ก็กดยกเลิกหลายรอบ เราหาคนขับอยู่นานมากๆ จนสุดท้ายคนที่ยอมซื้อให้ก็คือคนขับผู้หญิง เราเลยรู้สึกว่าที่เขาไม่รับเพราะรู้สึกรังเกียจผ้าอนามัย
จนเราอายุประมาณ 25-26 ปี ช่วงนั้นเริ่มมีกระแสการใช้ถ้วยอนามัย ตัวเราเองไม่ชอบการใช้ผ้าอนามัยอยู่แล้ว เพราะไม่ชอบความรู้สึกที่เข้าห้องน้ำแล้วต้องเห็นเลือด เห็นก้อนเลือดซึ่งมีกลิ่นเหม็น เลยสนใจและซื้อถ้วยอนามัยขนาดปกติมาใช้ มันเลยเป็นครั้งแรกที่เราอยากจะทำอะไรกับเมนส์ตัวเอง แต่พยายามยังไงก็ใส่ไม่เข้า
พอมีแฟนผู้หญิง แฟนที่เคยใช้ถ้วยอนามัยเลยสอนวิธีใช้และแนะนำให้เราใช้ขนาดเล็ก ซึ่งพอได้ลองใช้ เราเลยได้เห็นเลือดประจําเดือนตัวเองที่เป็นเลือดธรรมดาๆ มุมมองของเราที่มีต่อเมนส์ก็เริ่มเปลี่ยนไป เรารู้สึกว่ามันน่าค้นหา แต่ละวันสีเลือดเราจะเป็นยังไง ปริมาณเยอะน้อยไม่เท่ากัน แถมยังไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่แฉะ และทำให้เรารู้สึกว่า เราจะทำอะไรก็ได้ จะว่ายน้ำ จะดำน้ำก็ได้ แล้วประหยัดมาก เพราะซื้อครั้งเดียวเราใช้ได้หลายครั้ง ไม่ต้องซื้อผ้าอนามัยใหม่ทุกๆ เดือน
หลังจากนั้นเราก็ได้ไปวงคุยเรื่องประจำเดือนของผู้หญิงกับกลุ่มหิ่งห้อยน้อยและการเมืองหลังบ้าน พื้นที่วงนั้นชวนกันตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องอายเวลาขอผ้าอนามัยจากเพื่อน ทำไมเราต้องเรียกผ้าอนามัยว่าขนมปัง ซึ่งเราก็พบว่าสังคมสอนให้เรารังเกียจเลือดจากจิ๋มของตัวเอง
เพื่อนตั้งคำถามว่าเลือดที่มันออกจากจิ๋มกับเลือดที่มันไหลออกจากแผล ต่างกันยังไง? อะไรที่เรารังเกียจมากกว่ากัน ซึ่งตอบได้ทันทีว่าเลือดที่มาจากจิ๋มถูกรังเกียจมากกว่า อย่างคำว่า ‘ประจำเดือน’ ก็คือเลือดที่ออกจากจิ๋มเป็นประจำทุกเดือน แต่แปลกที่คำว่า ‘เลือด’ กลับหายไปทั้งๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ มันแสดงว่าเราต้องการปกปิดการมีอยู่ของเลือด หรือบางทีก็เลี่ยงไปใช้คำว่าวันนั้นของเดือนเลย ความรังเกียจนี้มันมีอยู่ลึกๆ ในภาษาที่เราใช้ วงนั้นเลยชวนกันว่าเราน่าจะเรียกมันว่า ‘เลือดเดือน’ ไปเลย เพื่อให้เรากล้าที่จะสบตากับมันและพามันออกมาในที่สาธารณะ
มีเพื่อนในวงคนนึงเล่าให้เราฟังว่า ในวันที่ผ้าอนามัยเขาหมด เขาลองเดินออกจากบ้านไปโดยที่ไม่ได้ใส่ผ้าอนามัยเลย มันก็เลอะ หยด ไหลออกมา คนรอบข้างดูไม่ค่อยสบายใจ แต่เขาเฉยๆ เพราะมันเป็นเลือดของเขา
หลังจากนั้นเราก็ไม่สนใจแล้วเวลามันเลอะ ในบางวันที่มาน้อยและเราอยู่บ้าน เราก็ไม่ใส่เลย เพราะเลอะได้ก็ซักได้ มันไม่ได้น่ารังเกียจอะไร มันคือเลือดจากร่างกายของเรา เวลาพูดถึงมัน เราก็กล้าใช้คำว่าเลือดมากขึ้น เป็นพยายามผลักขอบเขตเรื่องนี้กับคนรอบตัว ซึ่งก็สังเกตว่าเพื่อนผู้ชายจะอึดอัด แต่ก็ฟัง เรารู้สึกสนุกกับการพูดถึงมันอย่างตรงไปตรงมา เพราะประจำเดือนถูกทำให้เป็นของต้องห้าม น่ารังเกียจ ซึ่งการเกลียดเลือดของตัวเองเนี่ยมันฝังแน่นมาก เราควรช่วยกันทำให้มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ผู้หญิงเราไม่ควรจะรังเกียจเลือดของตัวเอง”

ช่วงเวลาแห่งการซื่อตรงกับตนเอง
“เมื่อก่อนเราไม่ค่อยสังเกตตัวเองเวลามีเมนส์เท่าไหร่ ในวงคุยนั้นเป็นครั้งแรกที่เราได้ฟังและคุยเกี่ยวกับเมนส์และอารมณ์ของผู้หญิง ซึ่งมันมีวงจรของมันว่า ช่วงเมนส์มาคือเวลาแห่งการปลดปล่อยสิ่งคั่งค้างต่างๆ ทางอารมณ์ แล้วหลังจากนั้นเราจะมีพลังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เลยเริ่มสังเกตตัวเองก่อนและหลังเมนส์มามากขึ้น
ด้วยความที่เรามีแฟนเป็นผู้หญิง ก็เลยช่วยกันสังเกต และเราก็เห็นตัวเองผ่านแฟนมากขึ้น อย่างเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ปกติเขาเคยทนได้ แต่ช่วงก่อนเมนส์มาเขาจะไม่ทนซึ่งทำให้ทะเลาะกัน เรามองว่ามันคือสิ่งที่เขากอดมาตลอดเดือน อดทนมาตลอด แต่ช่วงก่อนเมนส์มาเหมือนทุกอย่างทั้งร่างกาย จิตใจ ฮอร์โมนมันต้องการปล่อยทุกอย่างออกมาเพื่อที่จะเคลียร์
สังคมมักบอกว่าผู้หญิงก่อนเมนส์มาจะขี้เหวี่ยงวีน แต่เราคิดว่าคำอธิบายนี้ไม่ใช่ เพราะจริงๆ ในชีวิตผู้หญิงเรามีเรื่องให้ต้องอดทนเยอะมาก มีเรื่องที่ต้องดูแล ประคับประคอง โอบรับคนอื่น เต็มไปหมด ผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องอดทนกับอะไรหลายๆ อย่าง แต่ช่วงก่อนเมนส์มา เราจะรู้สึกไม่อยากทน เราอยากจะจัดการให้มันไม่ค้างคาอีกต่อไป เราจะซื่อสัตย์กับตัวเอง เราจะพูดความจริง ซึ่งเราก็ทำสิ่งนั้นได้ง่ายอย่างไม่ตั้งใจก่อนเมนส์มา และทันทีที่มันมา เราจะรู้สึกโล่ง ความอยากอาหารหวาน อาหารจังก์ต่างๆ หายไป กลายเป็นความสบายตัว สบายใจที่เราปล่อยทุกอย่างออกไปพร้อมกับเลือดของเรา
มันเหมือนกับว่าร่างกายและทุกๆ อย่างบอกกับเราว่าไม่จำเป็นต้องอดทนอีกต่อไป ฉะนั้นสิ่งที่เราทนไม่ไหว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก่อนเมนส์มาควรถูกรับฟัง เพราะประเด็นที่เราจี๊ดตอนนั้นมันไม่ได้จริงน้อยลงเลยเพราะเราเป็นเมนส์
พอมีมุมมองว่าช่วงเวลาเมนส์มาเป็นช่วงเวลาของการได้ปลดปล่อย เราก็รู้สึกว่าอารมณ์เหล่านั้นมันไม่ได้แย่ หลังหมดประจำเดือนตัวเราก็จะเบาขึ้น พร้อมทำสิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้น เราเลยรู้สึกว่าประจำเดือนมาเพื่อให้เราสังเกตตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ”

ตัวฉันกับน้องก้อน
“หลังจากเราเริ่มเป็นพันธมิตรกับเมนส์ของตัวเอง ช่วงปีที่แล้วเราเริ่มปวดท้องเมนส์มากขึ้น ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คือทำงานไม่ได้ ต้องกินยาพอนสแตนเป็นแผงๆ ด้วยความที่ตอนนั้นผอม พอจับท้องน้อยตัวเองก็รู้สึกมีอะไรแข็งๆ นูนขึ้นมา ก็เลยไปหาหมอ เขาก็บอกว่าเรามีเนื้องอกในมดลูกขนาดใหญ่มากอยู่ ซึ่งมันทำให้เราเลือดออกเยอะและปวดท้องเมนส์มาโดยตลอด แต่เราไม่รู้เลยว่าอาการที่เราเป็นมาตลอดคือความไม่ปกติ
หมอก็แนะนำว่าถ้าเราไม่คิดจะมีลูกก็ไม่รู้ว่าจะเก็บไว้ทำไม ให้ตัดมดลูกทิ้ง เพราะถ้าผ่าตัดแค่ก้อนเนื้อออก มดลูกจะมีแผลใหญ่และเสียค่าใช้จ่ายสูง เราก็ลังเล เพราะเรารู้สึกเพิ่งได้เป็นมิตรกับประจำเดือนและมดลูกของตัวเอง เพิ่งรู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อนเรา ทำไมถึงจะเอาเขาออกไปจากเราตอนนี้ เลยขอกลับไปคิดก่อน
เรากลับไปหาข้อมูลกับแฟนเกี่ยวกับผลกระทบของการตัดมดลูก ซึ่งหายากมากๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหมอผู้ชายเขียนว่ามันอาจทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่เราสนใจ ผู้หญิงจะสนใจว่าถ้าเราตัด มันจะเปลี่ยนสุขภาพของเราอย่างไรมากกว่า ซึ่งก็ได้ข้อมูลมาว่ามันจะทำให้เราฉี่เล็ดบ่อย อวัยวะภายในอาจจะเคลื่อน และยังพบข้อมูลว่าที่อเมริกา การผ่าตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดที่มากสุดเป็นอันดับ 2 ของผู้หญิง เราเลยรู้สึกว่านี่เป็นวิธีการรักษาแบบกำจัดทิ้ง
มีช่วงหนึ่งเราตัดสินใจว่าจะผ่า คือนัดหมออะไรเรียบร้อยแล้ว แต่เราก็กลับไปคุยกับหมอใหม่ว่า เราไม่อยากผ่า เราจะขอกินพอนสแตนระงับไปก่อน หมอโกรธมาก บอกว่าเนี่ยเดี๋ยวจะจ่ายพอนสแตนให้ 100 เม็ดเลย เราฟังแล้วเราก็ดีใจว่าไม่ต้องไปซื้อเอง เพราะแผงหนึ่งมันแพงมาก แล้วเราก็ถามว่า เหตุที่เราเป็นเนื้องอก เพราะอาหารการกินด้วยหรือเปล่า หมอก็ตอบว่าถ้าเกิดคุณเอาอาหารยัดเข้าไปในช่องคลอดก็มีผล ซึ่งเราเป็นคนช้า ไม่รู้ว่าเขาประชด คุยเสร็จก็นั่งรอพอนแสตนอยู่นาน แล้วก็งงว่าทำไมหมอต้องโกรธขนาดนี้ ทำไมไม่มีใครฟังกูเลยว่ากูจะเก็บมดลูกไว้?
พอตัดสินใจว่าจะไม่ตัดก็หันไปรักษาแนวทางเลือก ซึ่งพบว่าก้อนเนื้อมันตอบสนองกับอาหารที่กินและความเครียดในชีวิตประจำวัน เราก็ดูแลเขาเหมือนลูกเลย ถ้าเกิดเราเครียดมันก็เต้นตุบๆ ถ้าเรากินอาหารฤทธิ์เย็น เขาก็จะสงบ แต่ถ้ากินเนื้อสัตว์ เขาก็จะไม่ค่อยโอเค พอเรากลับมาทำงานที่กรุงเทพ เราก็กินอาหารได้ไม่เหมือนเดิม ก้อนมันก็ไม่ไหว ร้อน ตึง เจ็บ ปวดท้องรุนแรงตอนเมนส์มา เราก็เลยลองไปหาหมออีกรอบ แต่คราวนี้ไปหาหมออีกโรงพยาบาล หมอคนนี้บอกว่าก้อนเนื้อขนาดใหญ่ขึ้นและเขาสามารถผ่าตัดเอาก้อนเนื้อให้ได้โดยที่ไม่ต้องตัดมดลูกทิ้ง เราเลยตัดสินใจว่าจะผ่า
ตอนที่ตัดสินใจก็ไม่มั่นคงนะ เพราะช่วงนั้นเราเครียดมาก มีอาการ Panic attack กินอาหารตามใจปาก ก้อนเนื้อเลยเป่งหนักมาก ผิวตึงมาก แสดงถึงความวายป่วงต่างๆ ในชีวิตเรา แสดงถึงตัวเราเองที่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ทำด้วยตัวเองคนเดียวไม่ไหว ลึกๆ แล้วก็กลัว เพราะไม่เคยผ่าตัดใหญ่เลย แต่ก่อนจะผ่าเราก็บอกตัวเองว่าเราจะเอาความค้างคาต่างๆ ออกไปพร้อมกับก้อนเนื้อและฝึกอยู่กับลมหายใจบ่อยๆ การผ่าตัดก็ผ่านไปได้ด้วยดี
อาทิตย์แรกๆ หลังผ่า เรารู้สึกตัวเบาขึ้น เพราะเป็นช่วงพักฟื้น ซึ่งก็พบว่าเราไม่ปวดท้องตอนเมนส์มาอีกแล้ว รอบเดือนก็มาครั้งละ 3 วัน ท้องผูกน้อยลง และฉี่ได้สุดมากขึ้น ตอนแรกคิดว่าเราพัก 2 อาทิตย์ก็น่าจะพอแล้วละ แต่ว่าร่างกายหลังผ่าตัดมันไม่เป็นแบบนั้น เพราะแม้แผลข้างนอกจะดูหายสนิทดี แต่ข้างในมดลูกยังต้องทำงานหนักมากๆ เพื่อฟื้นฟูตัวเอง เดือนหนึ่งก็แล้วยังไม่กลับมาปกติ เลยกลายว่าตัวเราเองนี่แหละที่ไม่ยอมรับ ไปฝืนเขา อยากโยคะ อยากยืด เราก็ทำ หรือฝืนไปทำธุระให้ที่บ้าน เสนอตัวไปทำนู้นทำนี้ให้คนอื่น ไม่ยอมพักผ่อนให้ดีๆ ทำให้กลับมาเจ็บ มีเลือดออกจากช่องคลอดหลายครั้ง
เรื่องนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า โลกเรียกร้องให้เราฝืนตัวเอง แล้วเราก็เต็มใจที่จะฝืนตัวเอง ฉะนั้นเราต้องฝึกยืนกรานว่าจะไม่ทำตามเสียงเรียกร้องเหล่านั้น เพราะเวลาเจ็บแผล เราต้องกลับมาเจ็บคนเดียว ซึ่งกว่าเราจะยืนกรานได้ต้องผ่านการเจ็บปวดคนเดียวหลายครั้ง เลยถือเป็นช่วงเวลาที่จะไม่ละเลยตัวเองเพื่อทำให้คนอื่นพอใจ เราจะให้ตัวเองก่อน”
เธออายุ 29 ปี


พรรัตน์ วชิราชัย
นักเขียนที่ถนัดงานสัมภาษณ์ สนใจประเด็น feminist ความเป็นธรรมทางเพศ ประเด็นสุขภาพจิต ฯลฯ ชอบดูซีรีย์และเดินทางเวลาเหนื่อย