Home » การอยู่กับความจริง (ว่าเราเคยทำแท้ง) ได้อย่างมั่นคง

การอยู่กับความจริง (ว่าเราเคยทำแท้ง) ได้อย่างมั่นคง

by หลังบ้าน

“เราคิดทันทีที่ท้องว่าต้องทำแท้ง เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่วิธีที่เราใช้ชีวิต เราไม่ได้มองเรื่องบาปด้วย แล้วถึงจะบาป เราก็จะทำอยู่ดี
.
เราคิดว่าประสบการณ์คนที่ท้องไม่พร้อม มันชัดมากว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเรา สิ่งที่ตามมาคืออะไร ไม่ว่าคุณจะใช้คำพูดที่เลวร้ายแค่ไหนมากดดัน เราก็ไม่พร้อมที่จะแบกสิ่งเหล่านี้ต่อ เรื่องบาปไม่สำคัญกับเราเลย เรื่องที่สำคัญคือคนที่บ้านจะรู้สึกยังไง แม่จะเสียใจไหม การทำแท้งครั้งหนึ่งก็เรื่องใหญ่แล้ว แต่เราทำแท้งสองครั้ง การตีตรามันมากมายมหาศาลเลย เราในตอนนั้นท้องซ้ำอย่างรวดเร็วกับคนคนเดิม
.
เวลาที่การทำแท้งเกิดขึ้น เราถูกบอกว่าเรื่องนี้ต้องเป็นความลับ อย่าไปบอกใคร คนจะมองว่าคุณเป็นคนไม่ดี ถ้ามีคู่ในอนาคต เขาจะรับไม่ได้ แล้วก็เป็นภาระของคนในบ้านที่ต้องช่วยกันเก็บความลับอีก
.
ตอนที่ทำแท้งครั้งที่สอง เราบอกคนในบ้าน สิ่งที่จำได้ชัดมากคือเรากินยาและนอนปวดท้องที่บ้าน มีเลือดไหลออกมา แต่ไม่มีใครมาดูเลย พี่สาวเราเดินมาดูแล้วก็ออกไป แม่ก็ไม่อยู่ แต่เรารู้สึกว่าเราปวดท้องมากๆ ทำไมไม่มีใครมาดูเลย มาให้กำลังใจหน่อยก็ได้ อย่าทำเหมือนว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ทำไมต้องทำเหมือนว่าความเจ็บปวดเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งสำหรับเรา สิ่งนี้มันเลวร้ายกว่าการพูดถึงมันด้วยซ้ำ
.
ตอนนั้นมีแค่พี่แม่บ้านที่มาทำงานใหม่มายืนดูที่หน้าต่าง เขาคงรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น แต่เราไม่ได้พูดอะไรกัน และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตอนที่เราทำแท้ง หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย เป็นเหมือนรหัสลับที่ทุกคนรู้ว่าจะไม่แตะต้อง
.
จนเรามาทำงานในประเด็นผู้หญิง เลสเบี้ยน และการทำแท้ง จึงเรียนรู้ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของเรา เราพูดถึงประสบการณ์เหล่านี้ได้ คนเราไม่ต้องภาคภูมิใจกับทุกๆ ก้าวในชีวิต ไม่จำเป็นต้องภูมิใจว่าทุกประสบการณ์เป็นเรื่องดี แต่เราภาคภูมิใจกับมันได้ เพราะมันเป็นประสบการณ์ของเราต่างหาก ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นความผิดพลาด ความเจ็บปวด ความโง่ หรืออะไรต่อมิอะไร การที่เราเป็นเจ้าของมัน เราอ้าแขนรับมันได้ เรื่องนั้นสำคัญกว่า
.
แล้วถ้าคนใกล้ตัวเราอ้าแขนรับด้วยยิ่งวิเศษเลย เพราะสังคมมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเพื่อนร่วมสังคมว่า เราต้องเป็นความดีงามได้ตลอด ซึ่งมันเป็นเรื่องโกหก คนเรามันไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานความดีงามได้ทุกเรื่อง แต่ทำไมเราถึงถูกสอนให้รู้สึกผิดและต้องปกปิดตัวเอง เราต้องคอยระแวงตลอดว่าใครจะคิดกับเราอย่างไร เราเลยมองว่า ยิ่งเราสอนให้คนในสังคมเป็นคนดีมากเท่าไหร่ คนในสังคมยิ่งโกหกมากเท่านั้น เพราะทุกคนอยากดี แต่ไม่อยากจริง แต่สิ่งที่เราควรสอนกันคือการอยู่กับความจริงได้อย่างมั่นคงมากกว่า
.
หลังจากนั้นถ้ามีเหตุให้พูด เราจะพูดถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ตอนแรกที่บ้านเขาก็ผงะไป แต่หลังๆ เขาก็ไม่ว่าอะไร แค่ไม่พูดต่อ ซึ่งสำหรับเราไม่เป็นไร เรามีความสุขที่ได้พูด การพูดถึงมันได้คือการที่เราไม่หลบหนีชีวิตของเรา ไม่กระทบง่ายว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร เพราะรู้ชัดว่าเราคิดและรู้สึกอย่างไรกับตัวเอง เราพบว่าเวลาที่เรายอมรับตัวเองได้เรื่องหนึ่ง เรื่องต่อๆ มาก็จะค่อยๆ เดินทางมา เราคิดว่ามันเป็นรากฐานเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเอง กับคนรัก กับสังคม”

พรรัตน์ วชิราชัย

นักเขียนที่ถนัดงานสัมภาษณ์ สนใจประเด็น feminist ความเป็นธรรมทางเพศ ประเด็นสุขภาพจิต ฯลฯ ชอบดูซีรีย์และเดินทางเวลาเหนื่อย

You may also like